วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เครื่องใช้ไฟฟ้า



โฮมเธียเตอร์

โฮมเธียเตอร์ (Home theater หรือ Home cinema) เป็นระบบภาพยนตร์สำหรับการใช้งานในบ้าน โดยรวมเอาระบบเครื่องเสียง และอุปกรณ์แสดงภาพเข้าด้วยกัน การใช้งานภาพมักจะระบบฉายภาพ โดยมีเครื่องฉายและจอ หรือโทรทัศน์จอใหญ่ หรือโทรทัศน์ความคมชัดสูง การถ่ายทอดคุณภาพเสียงนั้นอาศัยระบบเสียงรอบทิศทาง ที่มีความน่าเชื่อถือสูง หรือระบบไฮไฟ
    โฮมเธียเตอร์โดยพื้นฐาน จะประกอบด้วยอุปกรณ์แสดงภาพ แหล่งสัญญาณภาพ และระบบเครื่องเสียง โดยสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และอาจจำแนกได้ไม่ง่ายนัก ระหว่าง "โฮมเธียเตอร์" กับ ชุด"โทรทัศน์และสเตอริโอ" แต่โดยมากผู้ใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงส่วนใหญ่จะลงความเห็นพ้องกันว่า โฮมเธียเตอร์นั้น เป็นระบบภาพเสียงที่มีคุณภาพสูง มีระบบเสียงรอบทิศทาง ให้เสียงและภาพที่ใหญ่ และได้อารมณ์ ความเพลิดเพลินจากการชมภาพยนตร์ในระดับใกล้เคียงโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม โดยมากแล้วเนื้อหาของโฮมเธียเตอร์มักจะเป็นเรื่องของความเพลิดเพลินความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา มากกว่าจะเป็นข่าวหรือสารคดี

คอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ (อังกฤษ: computer) หรือในภาษาไทยว่า คณิตกรณ์เป็นเครื่องจักรแบบสั่งการได้ที่ออกแบบมาเพื่อดำเนินการกับลำดับตัวดำเนินการทางตรรกศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ โดยอนุกรมนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อพร้อม ส่งผลให้คอมพิวเตอร์สามารถแก้ปัญหาได้มากมาย คอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ออกมาให้ประกอบไปด้วยความจำรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูล อย่างน้อยหนึ่งส่วนที่มีหน้าที่ดำเนินการคำนวณเกี่ยวกับตัวดำเนินการทางตรรกศาสตร์ และตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์ และส่วนควบคุมที่ใช้เปลี่ยนแปลงลำดับของตัวดำเนินการโดยยึดสารสนเทศที่ถูกเก็บไว้เป็นหลัก อุปกรณ์เหล่านี้จะยอมให้นำเข้าข้อมูลจากแหล่งภายนอก และส่งผลจากการคำนวณตัวดำเนินการออกไป
        หน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีหน้าที่ดำเนินการกับคำสั่งต่างๆ ที่คอยสั่งให้อ่าน ประมวล และเก็บข้อมูลไว้ คำสั่งต่างๆ ที่มีเงื่อนไขจะแปลงชุดคำสั่งให้ระบบและสิ่งแวดล้อมรอบๆ เป็นฟังก์ชันที่สถานะปัจจุบัน
         คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกถูกพัฒนาขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1940ค.ศ. 1945) แรกเริ่มนั้น คอมพิวเตอร์มีขนาดเท่ากับห้องขนาดใหญ่ ซึ่งใช้พลังงานมากเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) สมัยใหม่หลายร้อยเครื่องรวมกัน
          คอมพิวเตอร์ในสมัยใหม่นี้ผลิตขึ้นโดยใช้วงจรรวม หรือวงจรไอซี (Integrated circuit)โดยมีความจุมากกว่าสมัยก่อนล้านถึงพันล้านเท่า และขนาดของตัวเครื่องใช้พื้นที่เพียงเศษส่วนเล็กน้อยเท่านั้น คอมพิวเตอร์อย่างง่ายมีขนาดเล็กพอที่จะถูกบรรจุไว้ในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์มือถือนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดเล็ก และหากจะมีคนพูดถึงคำว่า "คอมพิวเตอร์" มักจะหมายถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคสารสนเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีคอมพิวเตอร์ชนิดฝังอีกมากมายที่พบได้ตั้งแต่ในเครื่องเล่นเอ็มพีสามจนถึงเครื่องบินขับไล่ และของเล่นชนิดต่างๆ จนถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
ประวัติของการคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์
        มีการบันทึกไว้ว่า ครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า "คอมพิวเตอร์" คือเมื่อ ค.ศ. 1613 ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำหน้าที่คาดการณ์ หรือคิดคำนวณ และมีความหมายเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 และตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มา ความหมายของคำว่าคอมพิวเตอร์นี้เริ่มมีใช้กับเครื่องจักรที่ทำหน้าที่คิดคำนวณมากขึ้นคอมพิวเตอร์ยุคแรกที่มีฟังก์ชันจำกัด
      ประวัติของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่นั้นเริ่มต้นจากเทคโนโลยีสองชนิดที่แตกต่างกัน ได้แก่ การคำนวณโดยอัตโนมัติ กับการคำนวณที่สามารถโปรแกรมได้ (หมายถึงสร้างวิธีการทำงานและปรับแต่งได้) แต่ระบุแน่ชัดไม่ได้ว่าเทคโนโลยีชนิดใดเกิดขึ้นก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการคำนวณแต่ละชนิดนั้นไม่มีความสอดคล้องกัน อุปกรณ์บางชนิดก็มีความสำคัญที่จะเอ่ยถึง อย่างเช่นเครื่องมือเชิงกลเพื่อการคำนวณบางชนิดที่ประสบความสำเร็จและยังใช้กันอยู่หลายศตวรรษก่อนที่จะมีเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์ อาทิลูกคิดของชาวสุเมเรียนที่ถูกออกแบบขึ้นราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาลชนะการแข่งขันความเร็วในการคำนวณต่อเครื่องคำนวณตั้งโต๊ะเมื่อ ค.ศ. 1946 ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1620 มีการประดิษฐ์สไลด์รูล ซึ่งถูกนำขึ้นยานอวกาศในภารกิจของโครงการอะพอลโลถึง 5 ครั้ง รวมถึงเมื่อครั้งที่สำรวจดวงจันทร์ด้วย[8] นอกจากนี้ยังมี เครื่องทำนายตำแหน่งดาวฤกษ์ (Astrolabe) และ กลไกอันติคือเธรา ซึ่งเป็นเครื่องคำนวณ (คอมพิวเตอร์) เกี่ยวกับดาราศาสตร์ยุคโบราณที่ชาวกรีกเป็นผู้สร้างขึ้นราว 80 ปีก่อนคริสตกาลที่มาของระบบการสั่งการโปรแกรมเกิดขึ้นเมื่อ ฮีโรแห่งอเล็กซานเดรีย (c.10-70 AD) นักคณิตศาสตร์ชาวกรีกสร้างโรงละครที่ประกอบด้วยเครื่องจักร ใช้แสดงละครความยาว 10 นาที และทำงานโดยมีกลไกเชือกและอิฐบล็อกทรงกระบอกที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะชิ้นส่วนกลไกใดใช้ในการแสดงฉากใดและเมื่อใด ราวๆ ปลายศตวรรษที่ 10 สมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2 นักบวชชาวฝรั่งเศส ได้นำลิ้นชักบรรจุอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่จะตอบคำถามได้ว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ เมื่อถูกถามคำถาม (ด้วยเลขฐานสอง) ซึ่งชาวมัวร์ประดิษฐ์ไว้กลับมาจากประเทศสเปน ในศตวรรษที่ 13 นักบุญอัลแบร์ตุส มาญุส และโรเจอร์ เบคอน นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้สร้างหุ่นยนต์แอนดรอยด์ (android) พูดได้ โดยไม่ได้พัฒนาใดๆ ต่ออีก (นักบุญอัลแบร์ตุส มาญุส บ่นออกมาว่าเขาเสียเวลาเปล่าไป 40 ปีในชีวิต เมื่อนักบุญโทมัส อควีนาสตกใจกับเครื่องนี้และได้ทำลายมันเสีย)

  ในปี ค.ศ. 1642 แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา มีการประดิษฐ์เครื่องคำนวณของปาสคาลซึ่งเป็นเครื่องคำนวณตัวเลขเชิงกลเป็นอุปกรณ์ที่จะสามารถคำนวณโดยใช้ตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์โดยไม่ต้องพึ่งสติปัญญามนุษย์เครื่องคำนวณเชิงกลนี้ยังถือเป็นรากฐานของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ในสองทาง แรกเริ่มนั้น ความพยายามที่จะพัฒนาเครื่องคำนวณที่มีสมรรถภาพสูงและยืดหยุ่นซึ่งทฤษฎีนี้ถูกสร้างโดยชาร์ลสแบบเบจและได้รับการพัฒนาในเวลาต่อมานำไปสู่การพัฒนาเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่) ขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1960 และในขณะเดียวกัน อินเทล ก็สามารถประดิษฐ์ ไมโครโพรเซสเซอร์ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเป็นหัวใจสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์หากไม่คำนึงถึงขนาดและวัตถุประสงค์ขึ้นได้โดยบังเอิญระหว่างการพัประเภทของคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้ใช้วงจรเบ็ดเสร็จขนาดใหญ่มาก (very large scale integrated circuit) ซึ่งสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากกว่าสิบล้านตัว เราสามารถแบ่งคอมพิวเตอร์ในรุ่นปัจจุบันออกเป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (supercomputer)
       ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วมาก และมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก มีขนาดใหญ่ สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้หลายแสนล้านครั้งต่อวินาที และได้รับการออกแบบ เพื่อให้ใช้แก้ปัญหาขนาดใหญ่มากทางวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่าง รวดเร็ว เช่น การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน การศึกษาผลกระทบของมลพิษกับสภาวะแวดล้อมซึ่งหากใช้คอมพิวเตอร์ชนิดอื่นๆ แก้ไขปัญหาประเภทนี้ อาจจะต้องใช้เวลาในการคำนวณหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่า นั้น เนื่องจากการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ จะต้องใช้หน่วยความจำสูง ดังนั้น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จึงมีหน่วยความจำที่ใหญ่มาก ซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ตั้งแต่รุ่นที่มีหน่วยประมวลผล (processing unit) 1 หน่วย จนถึงรุ่นที่มีหน่วยประมวลผลหลายหมื่นหน่วยซึ่งสามารถทำงานหลายอย่างได้ พร้อม ๆ กัน
เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (mainframe computer)
 เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ มีสมรรถภาพที่ต่ำกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาก แต่ยังมีความเร็วสูง และมีประสิทธิภาพสูงกว่ามินิคอมพิวเตอร์หรือไมโครคอมพิวเตอร์ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์สามารถให้บริการผู้ใช้จำนวนหลายร้อยคนพร้อม ๆ กัน ฉะนั้น จึงสามารถใช้โปรแกรมจำนวนนับร้อยแบบในเวลาเดียวกันได้ โดยเฉพาะถ้าต่อเครื่องเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถใช้ได้จากทั่วโลก ปัจจุบัน องค์กรใหญ่ๆ เช่น ธนาคาร จะใช้คอมพิวเตอร์ประเภทนี้ในการทำบัญชีลูกค้า หรือการให้บริการจากเครื่องฝากและถอนเงินแบบอัตโนมัติ (automatic teller machine) เนื่องจากเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ได้ถูกใช้งานมากในการบริการผู้ใช้พร้อม ๆ กัน เมนเฟรมคอมพิวเตอร์จึงต้องมีหน่วยความจำที่ใหญ่มาก
มินิคอมพิวเตอร์ (minicomputer)
      มินิคอมพิวเตอร์ คือ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ๆ ซึ่งสามารถบริการผู้ใช้งานได้หลายคนพร้อม ๆ กัน แต่จะไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะบริการผู้ใช้ในจำนวนที่เทียบเท่าเมนเฟรม คอมพิวเตอร์ได้ จึงทำให้มินิคอมพิวเตอร์เหมาะสำหรับองค์กรขนาดกลาง หรือสำหรับแผนกหนึ่งหรือสาขาหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น
ไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer) หรือ พีซี (personal computer หรือ PC)
     ไมโครคอมพิวเตอร์ คือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบขนาดตั้งโต๊ะ (desktop computer) หรือขนาดเล็กกว่านั้น เช่น ขนาดสมุดบันทึก (notebook computer) และขนาดฝ่ามือ (palmtop computer) ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เริ่มมีขึ้นในปีพ.ศ. 2518 ถึงแม้ว่าในระยะหลัง เครื่องชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่เนื่องจากมีราคาไม่แพงและมีขนาดกระทัดรัด ไมโครคอมพิวเตอร์จึงยังเหมาะสำหรับใช้ส่วนตัว ไมโครคอมพิวเตอร์ได้ถูกออกแบบสำหรับใช้ที่บ้าน โรงเรียน และสำนักงานสำหรับที่บ้าน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของครอบครัวช่วย ทำการบ้านของลูกๆ การค้นคว้าข้อมูลและข่าวสาร การสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail หรือ E - mail) หรือโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต (internet phone) ในการติดต่อทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งทางบันเทิง เช่น การเล่นเกมบนเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ สำหรับที่โรงเรียน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยสอนนักเรียนในการค้นคว้าข้อมูลจาก ทั่วโลกสำหรับที่สำนักงาน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยพิมพ์จดหมายและข้อมูลอื่นๆ เก็บและค้นข้อมูล วิเคราะห์และทำนายยอดซื้อขายล่วงหน้า
โน้ตบุ๊ค (notebook or laptop)
     โน้ตบุ๊ค คือ คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าไมโครคอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบไว้เพื่อนำติดตัวไปใช้ตามที่ต่างๆ มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา ในปัจจุบันมีขนาดพอๆกับสมุดที่ทำด้วยกระดาษ
เน็ตบุ๊ค (netbook or laptop)
     เน็ตบุ๊ค คือ คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าไมโครคอมพิวเตอร์และเล็กกว่าโน้ตบุ๊ค ถูกออกแบบไว้เพื่อนำติดตัวไปใช้ตามที่ต่างๆ มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา
แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ (tablet computer)
     แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แท็บเล็ต คือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ในขณะเคลื่อนที่ได้ ขนาดกลางและใช้หน้าจอสัมผัสในการทำงานเป็นอันดับแรก มีคีย์บอร์ดเสมือนจริงหรือปากกาดิจิตอลในการใช้งานแทนที่แป้นพิมพ์คีย์บอร์ด และมีความหมายครอบคลุมถึงโน๊คบุ๊คแบบ convertible ที่มีหน้าจอแบบสัมผัสและมีแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดติดมาด้วยไม่ว่าจะเป็นแบบหมุน หรือแบบสไลด์ก็ตาม 

เครื่องพิมพ์

เครื่องพิมพ์ (Computer printer) เป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่จะผลิตข้อความและ/หรือกราฟิกของเอกสารที่เก็บไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ออกมาในสื่อทางกายภาพเช่นกระดาษหรือแผ่นใส เครื่องพิมพ์ส่วนมากเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงทั่วไปและเชื่อมต่อด้วยสายเคเบิลเครื่องพิมพ์หรือในเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่จะเป็นสายยูเอสบี เครื่องพิมพ์บางชนิดที่เรียกกันว่าเครื่องพิมพ์เครือข่าย(Network Printer) อินเตอร์เฟซที่ใช้มักจะเป็นแลนไร้สายและ/หรืออีเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่
เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser printer หรือ Toner-based printers)
        เป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับเครื่องถ่ายเอกสาร คือยิงเลเซอร์ไปสร้างภาพบนกระดาษในการสร้างรูปภาพ หรือตัวอักษร ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีคุณภาพสูงมาก และราคาเครื่องพิมพ์ก็มีราคาสูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งเครื่องพิมพ์เลเซอร์จะทำงานได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก และคุณภาพของผลลัพธ์ทั้งด้านความคมชัดและรายละเอียดทำออกมาได้ดีกว่าแบบพ่นหมึกมากๆ
เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก (Inkjet printers)
         เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก หรือ เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต (Inkjet Printer) เป็นเครื่องพิมพ์ที่ทำงานโดยการพ่นหมึกออกมาเป็นหยดเล็กๆ ลงบนกระดาษ เมื่อต้องการพิมพ์รูปทรงหรือรูปภาพใดๆ เครื่องพิมพ์จะทำการพ่นหมึกออกตามแต่ละจุดในตำแหน่งที่เครื่องประมวลผลไว้อย่างแม่นยำ ตามความต้องการของเรา ซึ่งเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึกจะมีคุณภาพดีกว่าเครื่องพิมพ์ดอตแมทริกซ์ โดยรูปที่มีความซับซ้อนมากๆเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึกจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ชัดเจนและคมชัดกว่าแบบดอตแมทริกซ์
เครื่องพิมพ์แบบใช้ความร้อน (Thermal printer)
         เป็นเครื่องพิมพ์ที่ทำงานโดนการให้ความร้อนแก่กระดาษ ใช้ในการพิมพ์ในเสร็จรับเงินเช่นATM
เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยเก่าและเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ
เครื่องพิมพ์ดอตแมทริกซ์ (Dot-matrix printer)
         เครื่องพิมพ์ดอตแมทริกซ์ การทำงานของเครื่องพิมพ์ประเภทนี้คือจะใช้การสร้างจุดลงบนกระดาษ ซึ่งหัวพิมพ์จะมีลักษณะเป็นหัวเข็ม เมื่อต้องการพิมพ์รูปทรงหรือรูปภาพใดๆ หัวเข็มที่อยู่ในตำแหน่งตามรูปประกอบนั้นๆ จะยื่นออกมามากกว่าหัวอื่นๆ และกระแทกกับผ้าหมึกลงกระดาษที่ใช้พิมพ์ จะทำให้เกิดจุดมากมายประกอบกันเป็นรูปเกิดขึ้นมา เครื่องพิมพ์ประเภทนี้เป็นที่นิยมกันอย่างมากเพราะมีราคาถูกและคุณภาพเหมาะสมกับราคา แต่ข้อเสียคือเวลาสั่งพิมพ์จะเกิดเสียดังพอสมควร
พล็อตเตอร์ (Plotter)
        เป็นเครื่องพิมพ์แบบที่ใช้ปากกาในการเขียนข้อมูลลงบนกระดาษ ซึ่งเครื่องพิมพ์ประเภทนี้เหมาะกับงานเขียนแบบของวิศวกรและสถาปนิก และเครื่องพิมพ์ประเภทนี้มีราคาแพงที่สุดในเครื่องพิมพ์ประเภทต่างๆ


ตู้เย็น

ตู้เย็น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความเย็นโดยประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนฉนวนป้องกันความร้อน (ป้องกันไม่ให้ความร้อนไหลเข้ามา) และ ส่วนทำความเย็น (ปั๊มที่นำความร้อนออกไปสู่ภายนอกซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า) คนส่วนใหญ่ใช้ตู้เย็นเก็บอาหาร เพื่อป้องกันการเน่าเสีย เนื่องจากแบคทีเรียเติบโตช้ากว่าในอุณหภูมิต่ำ ตู้เย็นมีหลายประเภทตั้งแต่แบบที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็ง (ช่องธรรมดา) แบบที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเล็กน้อย (ช่องแช่แข็ง, ช่องฟรีซ) ก่อนที่จะมีตู้เย็นประเทศในเขตหนาวใช้กล่องน้ำแข็ง (icebox) ในการรักษาอาหาร
      ช่องแช่แข็งของตู้เย็นที่ขายอยู่ทั่วไปมีอุณหภูมิประมาณ -18 °C (ประมาณ 0 °F) สำหรับตู้เย็นที่ใช้ในบ้านมักมีช่องธรรมดาและช่องแช่แข็งรวมกัน และมักใช้เครื่องทำความเย็นร่วมกัน (บางครั้งก็แยกกัน) ตู้เย็นรุ่นใหม่ ๆ มักมีเครื่องทำน้ำแข็งติดตั้งมาพร้อมกัน ตู้เย็นขนาดใหญ่รวมทั้งเครื่องทำน้ำแข็งขนาดใหญ่ในโรงงานมักใช้แก๊สแอมโมเนียซึ่งเป็นอันตรายในการทำการทำความเย็น ทำให้ไม่ปลอดภัยในการใช้ในบ้านเรือน ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1930s ที่สหรัฐอเมริกาได้สังเคราะห์สารเคมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ ไม่ติดไฟ เช่น แก๊สฟรีออน
ประวัติ
       ก่อนการประดิษฐ์ตู้เย็นประเทศในเขตหนาวได้มีการตัดน้ำแข็งก้อนใหญ่จากทะเลสาบในฤดูหนาวมาเก็บในขี้เลื่อยไว้ใช้ตลอดปี ในประเทศไทยคนส่วนมากเก็บอาหารไว้ในตู้กับข้าวซึ่งป้องกันแมลงและหนูมารบกวนเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการเน่าเสีย คนไทยมีวิธีอื่น ๆ อีกมากเพื่อถนอมอาหาร เช่น หมัก ดอง แช่อิ่ม ตากแห้ง รมควัน นอกจากนี้คนไทยยังเก็บน้ำฝนไว้ในโอ่งดินซึ่งทำให้น้ำเย็นตามธรรมชาติ
     ในศตวรรษที่ 11 มุสลิมนักฟิสิกส์และเคมีชาวเปอร์เซีย, อวิเซ็นน่า หรือ อิบนูซีนา (Ibn Sina หรือ Avicenna) ประดิษฐ์เครื่องควบแน่น (refrigerated coil) เพื่อใช้ในการกลั่นน้ำมันหอม[1][2] นี่เป็นการพัฒนาการกลั่น โดยอวิเซ็นน่าเป็นคนแรกที่ใช้การกลั่นด้วยไอน้ำ ซึ่งต้องใช้เครื่องควบแน่นในการทำให้ไอกลั่นตัวเป็นหยดน้ำในระยะทางสั้นเพื่อผลิตน้ำมันหอม[3] กระบวนการกลั่นนี้ได้ใช้มาถึงปัจจุบัน โดยในประเทศไทยได้ใช้ในการผลิตน้ำมันหอมระเหย
      วิลเลียม คัลเลน (William Cullen) ประดิษฐ์ตู้เย็นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว (University of Glasgow) ในปี 1748 หลังจากนั้นในปี 1805 เมื่อโอลิเวอร์ อีวาน (Oliver Evans) ได้ประดิษฐ์ตู้เย็นที่ใช้ไอทำความเย็น ต่อมาในปี 1902 วิลลิส ฮาวิแลนด์ คาริเออร์ (Willis Haviland Carrier) ได้ประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศ ในปี 1850 ถึง ปี 1851, ดร. จอห์น โกรี (John Gorrie) ประดิษฐ์เครื่องทำน้ำแข็ง ในปี 1857 เจมส์ แฮริสัน (James Harrison) วิศวกรชาวออสเตรเลียได้ประดิษฐ์ตู้เย็นที่ทำความเย็นด้วยการอัดไอเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อแช่แข็ง ต่อมาเฟอร์ดินานด์ คารี่ (Ferdinand Carré) ชาวฝรั่งเศสได้พัฒนาระบบให้ซับซ้อนในปี 1859 โดยใช้แก็สแอมโมเนียซี่งระเหยเร็วเป็นตัวระบายความร้อนแทนอากาศ
การออกแบบ
     ตู้เย็นทำความเย็นโดยปั๊มความร้อนในการทำความเย็น โดยในแต่ละรอบของการทำความเย็น สารทำความเย็นเช่น R134a เข้าไปในเครื่องอัดความดันหรือที่เรียกกันว่าคอมเพรสเซอร์ (compressor) ที่มีความดันต่ำอุณหภูมิที่จุดเดือด แล้วอัดไอนั้น พออัดจนมีความดันสูงไอก็จะร้อน (สังเกตจากเวลาสูบลมจักรยาน) ไอร้อนความดันสูงเข้าไปในเครื่องควบแน่น (condenser) แล้วออกมาเป็นของเหลวความดันสูงที่จุดเดือด หลังจากนั้นก็ไปที่แผงระบายความร้อน สารทำความเย็นที่เป็นของเหลวอุณหภูมิเย็นลงแล้วไหลไปที่ใกล้กับส่วนที่ต้องการให้เย็น ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นก๊าซอุณหภูมิต่ำ (เหมือนเวลาปล่อยลมออกจากล้อจักรยาน แล้วก็ไหลไปเป็นวงจรเรื่อย ๆ
     ตู้เย็นรุ่นแรก ๆ จะมีน้ำแข็งเกาะตามตู้ของช่องแช่แข็ง เกิดจากความชื้นตอนเปิดประตูตู้ โดยน้ำแข็งจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ใช้ต้องละลายน้ำแข็งเอง เช่น ถอดปลั๊กออกจนกว่าน้ำแข็งข้าง ๆ ตู้จะละลายหมด ต่อมา จึงพัฒนาเป็นแบบกดปุ่มละลายน้ำแข็ง และละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ ผู้ใช้ควรหมั่นละลายน้ำแข็งเพื่อประหยัดไฟ ในปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น แก๊สฟรีออน (freon) โดยมีส่วนของซีเอฟซี (chlorofluorocarbons, CFCs) ที่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ ตู้เย็นรุ่นเก่าส่วนใหญ่ใช้แก๊สฟรีออนซึ่งมักรั่วออกสู่บรรยากาศ (สังเกตง่าย ๆ ได้จากการที่ต้องเติมน้ำยาทำความเย็นของตู้เย็น หรือน้ำยาแอร์ในเครื่องปรับอากาศ) ตู้เย็นรุ่นใหม่มักใช้สารทำความเย็นที่ไม่มีส่วนของซีเอฟซี เช่น HFC-134a (1,2,2,2-tetrafluoroethane) ซึ่งไม่ทำลายชั้นโอโซน
ประสิทธิภาพของตู้เย็น
   ตู้เย็นที่กินไฟมากสุดคือแบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ เพราะต้องมีตัวเป่าความชื้นออกจากใบของพัดลมในตู้เย็น และยังต้องมีการเพิ่มอุณหภูมิเป็นพัก ๆ แบบที่รองลงมาได้แก่แบบไม่มีระบบละลายน้ำแข็งเลย แต่ว่าน้ำแข็งที่เกาะในตู้เย็นก็ทำให้กินไฟมากขึ้น ผู้ใช้ควรหมั่นละลายน้ำแข็ง และแบบที่มีปุ่มกดละลายน้ำแข็งกินไฟที่สุด แต่ผู้ใช้มักไม่ซื้อตู้เย็นประหยัดไฟเนื่องจากมีราคาแพงตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่กินไฟมาก (เกือบจะมากที่สุด รองจากเครื่องปรับอากาศ) ในช่วงยี่สิบปีมานี้มีการแข่งขันของผู้ผลิตในการพัฒนาตู้เย็นประหยัดไฟมากขึ้น ตู้เย็นที่มีคุณภาพดีในปัจจุบันกินไฟประมาณ 1 ยูนิต (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ต่อวันสำหรับตู้เย็นหรือเครื่องทำน้ำแข็งขนาดใหญ่อาจกินไฟถึง 4 ยูนิตต่อวัน
ตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งอยู่บนกินไฟน้อยกว่าแบบที่มีช่องแช่แข็งอยู่ล่างและมีความจุเท่ากัน โดยแบบที่มีช่องแช่แข็งอยู่ข้าง ๆ กินไฟมากที่สุด [6] นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ผลิตตู้เย็นตามแบบของไอสไตน์ ที่ประดิษฐ์ครั้งแรกในปี 1930 โดยตู้เย็นนี้ไม่ใช้ไฟฟ้า และไม่มีส่วนของก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ
ตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพมากสุดตามทฤษฎีคือตู้เย็นคาร์โนต์ซึ่งไม่สามารถผลิตได้จริง
ระบบช่องเก็บอาหารตู้เย็น
ตู้เย็นส่วนใหญ่แบ่งเป็นหลายส่วนเพื่อเก็บอาหารดังนี้
    -18 °C (0 °F) (ช่องแช่แข็ง)
    0 °C (32 °F) (เนื้อ)
    5 °C (40 °F) (ช่องธรรมดา)
    10 °C (50 °F) (ผัก ผลไม้)
ปุ่มปรับความเย็นของตู้เย็นมักเป็นตัวเลข (เช่น 1 ถึง 9 จากเย็นน้อยไปเย็นสุด) โดยต่างกันไปแล้วแต่ผู้ผลิต แต่มักอยู่ในช่วง 2 ถึง 8 °C (36 ถึง 46 °F) และอุณหภูมิประมาณ -18 °C (0 °F) ในช่องแช่แข็ง
ผู้ใช้ควรวางตู้เย็นไว้ในที่ ๆ อากาศถ่ายเทเพื่อให้ตู้เย็นทำงานสะดวกและลดการกินไฟ
    ไม่ควรวางตู้เย็นใกล้ผนังเกินไป เพราะทำให้ระบายความร้อนได้ไม่ดี
    ไม่ควรวางตู้เย็นหรือเครื่องทำน้ำเย็นไว้ในห้องปรับอากาศ เพราะทำให้เสียค่าไฟสองต่อ โดยตู้เย็นดูดความร้อนเป่าออกมาหลังเครื่องทำให้ห้องร้อนขึ้นขนาด
ขนาดของตู้เย็นวัดเป็นลิตรหรือคิว (คำว่าคิวมาจาก cubic foot/feet หมายถึงลูกบาศก์ฟุต) เช่น 100 ลิตร (3.53 คิว) เป็นช่องแช่แข็งกับ 140 ลิตร (4.94 คิว) สำหรับช่องธรรมดา
ตู้เย็นมีหลายขนาด แบ่งตามการใช้งาน เช่น ขนาดเป็นห้องใหญ่ ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม จนถึง 2-3 คิวที่ใช้ในบ้านเรือน

หม้อหุงข้าว

หม้อหุงข้าว เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับหุงข้าว เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น หม้อหุงข้าวที่เก่าแก่ที่สุด เรียกว่า คามาโดะ มีมาตั้งแต่ยุคสมัยโคฟุน ค.ศ. 300-710 คามาโดะเป็นเตาดินเสริมด้วยอิฐหักเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและทนทานต่อความร้อน ใช้ฟืนในการหุงต้ม นอกจากใช้หุงข้าวแล้วก็ยังนำมาต้มซุปถั่ว แต่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ต่อมาสมัยนารา-เฮอัน ราวปี ค.ศ.710-794 หม้อหุงข้าวพัฒนามาเป็น โอกิ-คามาโดะ สร้างขึ้นให้ใช้งานกลางแจ้ง และมีภาชนะแยกส่วนสำหรับบรรจุอาหารที่เรียกว่าฮากามะ สำหรับหย่อนลงในหลุมที่ด้านล่างมีกองฟืนสำหรับหุงต้ม ภายหลังมีการประดิษฐ์ภาชนะบรรจุข้าวสำหรับหุงโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นทรงรีทำด้วยโลหะ เรียกว่า โอกามา เรียกหม้อหุงข้าวชนิดนี้ว่า มูชิ-คามาโดะ
เริ่มมีการทดลองผลิตหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายยุคสมัยไตโช กลางทศวรรษ 1920 ต่อมาปลายทศวรรษ 1940 บริษัทมิตซูบิชิ อิเลคทริก ผลิตหม้อหุงข้าวที่มีหม้อและขดลวดนำความร้อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุดกับหม้อหุงข้าวในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สะดวกสบายนัก ยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ภายหลังบริษัทมัตซูชิตะและโซนี่ผลิตหม้อหุงข้าวออกจำหน่าย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สตรีญี่ปุ่นต้องใช้แรงงานในการสงครามด้วย ความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการหุงข้าวจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 10 ธันวาคม 1956 บริษัทโตชิบานำหม้อหุงข้าวอัตโนมัติออกวางจำหน่าย 700 ใบ ประสบความสำเร็จมาก โตชิบาเริ่มผลิตหม้อหุงข้าวอีก 200,000 ใบ ในเวลาเพียง 1 เดือน อีก 4 ปี ต่อมาหม้อหุงข้าวเริ่มแพร่หลายไปเกือบครึ่งประเทศ หม้อหุงข้าวของโตชิบานี้ใช้เวลาเพียง 20 นาที มี 2 ชั้น ชั้นนอกสำหรับบรรจุน้ำ ส่วนชั้นในสำหรับบรรจุข้าว รูปแบบนี้ใช้อยู่นานถึง 9 ปี จึงเปลี่ยนพัฒนามาเป็นหม้อหุงข้าวในยุคปัจจุบัน


เตาอบไมโครเวฟ

เตาอบไมโครเวฟ (อังกฤษ: microwave oven) เป็นอุปกรณ์เครื่องครัวชนิดหนึ่ง ให้ความร้อนแก่อาหารโดยคลื่นไมโครเวฟ
แนวความคิดในการใช้ คลื่นไมโครเวฟ ในการให้ความร้อนแก่อาหารนี้ ค้นพบโดย เพอร์ซี สเปนเซอร์ (Percy Spencer) ซึ่งทำงานที่บริษัทเรธีออน (Raytheon) ในขณะกำลังสร้าง แมกนีตรอนสำหรับใช้ในระบบเรดาห์ วันหนึ่งในขณะที่เขากำลังทำงานอยู่กับเรดาห์ที่กำลังทำงานอยู่ เขาได้สังเกตเห็นแท่งช็อกโกแลต ในกระเป๋าเสื้อของละลาย อาหารชนิดแรกที่อบโดยตู้อบไมโครเวฟ คือ ข้าวโพดคั่ว และ ชนิดที่สองคือ ไข่ ซึ่งเกิดระเบิดขึ้นในขณะทำการทดลองอบ
ในปี ค.ศ. 1946 เรธีออน ได้จดสิทธิบัตรกระบวนการใช้คลื่นไมโครเวฟในการอบอาหาร ต่อมาในปี ค.ศ. 1947 เรธีออกก็ได้ผลิตเตาอบไมโครเวฟเครื่องแรก เพื่อการพาณิชย์ ชื่อ Radarange ซึ่งมีขนาดใหญ่ สูงถึง 6 ฟุต (1.8 เมตร) และ หนัก 750 ปอนด์ (340 กิโลกรัม) โดยใช้น้ำเป็นระบบระบายความร้อน และ ให้กำลัง 3000 วัตต์ ซึ่งสูงกว่าเตาอบไมโครเวฟที่เราใช้กันทุกวันนี้ ถึง 3 เท่า การประดิษฐ์นี้ประสบความสำเร็จทางการตลาดมากจนในที่สุด เรธีออนได้ซื้อบริษัท อมานา (Amana) เพื่อทำการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุดอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ
มีบริษัทอื่นๆ อีกมากเริ่มผลิตเตาอบไมโครเวฟนี้ ออกสู่ตลาด ซึ่งในช่วงแรกนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ทำงานทางด้านการทหาร เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความชำนาญทางด้าน แมกนีตรอน ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เทคโนโลยีทางด้านนี้ได้พัฒนาไปมากจนกระทั่ง ราคาของเตาอบไมโครเวฟนี้ตกลงอย่างรวดเร็ว และ เตาอบไมโครเวฟ ก็ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์หลักหนึ่งในครัวเรือน

พัดลมไอน้ำ

พัดลมไอน้ำ (fan fogger หรือ mist fan) เป็นพัดลมที่พ่นหมอกหรือไอน้ำ มีทั้งใช้ภายนอกอาคาร และภายในอาคารพัดลมไอน้ำสามารถดัดแปลงเป็นรางพ่นไอน้ำ และ ในการลดค่าสาร แอมโมเนีย ในอากาศ ลดไฟฟ้าสถิตย์ในงานสิ่งทอ

ระบบการทำงาน

ปั๊มแรงดันสูง

    การสร้างละอองหมอกด้วย ปั๊มแรงดันสูง (high pressure pump)และหัวพ่นหมอก (Mist Nozzle) ใช้หลักการจ่ายน้ำผ่านรูขนาดเล็กมากๆ เพื่อให้หยดน้ำที่พ่นออกมามีการแตกตัวเป็นอณูเล็กๆ (Atomization) ซึ่งปั๊มแรงดันสูงที่ใช้มีแรงดันตั้งแต่ 35 บาร์ขึ้นไปจนถึง 3000 บาร์ หรือ 43511.321 PSI แต่แรงดันที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้สำหรับระบบพัดลมไอน้ำ คือ 70 บาร์ หรือ 1,000 PSI ส่วนการเลือกอัตราการไหลของปั๊มที่จะใช้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น จำนวนของหัวพ่นหมอกในระบบ และความยาวรวมของท่อทางในระบบ เป็นหลัก
    หัวพ่นหมอก (Mist Nozzle) ที่นิยมใช้กันมาก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรูพ่น (Orifice)ตั้งแต่ 0.1 - 0.4 mm รูพ่นที่มีขนาดเล็กนี้ ผลิตโดยวิธีการใช้เลเซอร์ยิง ทำให้สามารถเจาะรูที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 10 เท่า หัวพ่นหมอกได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีแค่ระบบกันหยด (มีสปริงทำหน้าที่เป็นตัวเชควาล์ว กันน้ำหยดในตัวของ nozzle) ปัจจุบันมีระบบไส้กรองภายใน ระบบถอดทำความสะอาดง่าย และอื่นๆ หัวพ่นหมอกเป็นนาโนเทคโนโลยีชนิดหนึ่ง เมื่อจ่ายน้ำที่มีแรงดันสูงผ่าน จะทำให้เกิดละอองน้ำขนาด 5 ไมครอน ซึ่งเล็กมาก ทำให้สามารถระเหยได้โดยฉับพลัน (Flash Evaporation) ในกระบวนการระเหยนี้ ละอองหมอกจะดูดซับเอาความร้อนจากอากาศรอบตัว ทำให้อุณหภูมิของอากาศลดลง เรายังสามารถเพิ่มอัตราการระเหยได้ด้วยการเพิ่มพัดลม ทำให้ส่งไอน้ำได้ไกลขึ้นไปอีกด้วยแรงลมจากพัดลม พัดลมไอน้ำเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2545

การใช้พัดลมไอน้ำ

การใช้พัดลมไอน้ำที่ถูกต้อง ควรใช้ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ว่าในร่มหรือกลางแจ้ง ถ้าอากาศถ่ายเทไม่ดี จะทำให้ไอน้ำจับตัวเป็นหยดน้ำได้ ในขณะที่มีความชื้นในอากาศมาก เช่นก่อนฝนตก แต่ถ้ามีพัดลมช่วยจะทำให้โอกาสจับตัวเป็นหยดน้ำเป็นไปได้ยาก ระยะจับตัวของพัดลมไอน้ำทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8 M จากการทดลองที่หลากหลายระดับ pressure
พัดลมไอน้ำเป็นระบบกึ่งปิด ไม่ใช่ระบบปิดแบบแอร์ หรือระบบเปิด แบบปั๊มจ่ายน้ำแรงดันต่ำ จึงไม่สามารถคำนวณหัวพ่นได้จาก cc ของหัวพ่นได้เป็นมาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับความสามารถของปั๊มชนิดนั้นๆ ปัจจุบันได้นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายจากไอน้ำ เช่นลดไฟฟ้าสถิตย์ และลดอุณหภูมิของคอนเดนเซอร์ของแอร์ ซึ่งทำให้ประหยัดไฟมากกว่าเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ถึง 4 เท่า .

เครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศ หรือเรียกเป็นภาษาพูดว่า แอร์ (อังกฤษ: Air conditioner, aircon) คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับปรับอุณหภูมิของอากาศในเคหสถาน เพื่อให้มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่ร้อนหรือไม่เย็นจนเกินไป หรือใช้รักษาภาวะอากาศให้คงที่เพื่อจุดประสงค์อื่น เคหสถานในเขตศูนย์สูตรหรือเขตร้อนชื้นมักมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง ตรงข้ามกับในเขตอบอุ่นหรือเขตขั้วโลกใช้เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น (อาจเรียกว่า เครื่องทำความร้อน) เครื่องปรับอากาศมีทั้งแบบตั้งพื้น ติดผนัง และแขวนเพดาน ทำงานด้วยหลักการการถ่ายเทความร้อน กล่าวคือ เมื่อความร้อนถ่ายเทออกไปข้างนอก อากาศภายในห้องจะมีอุณหภูมิลดลง เป็นต้น และเครื่องปรับอากาศอาจมีความสามารถในการลดความชื้นหรือการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ด้วย
ขนาดของเครื่องปรับอากาศ มีหน่วยเป็น บีทียู ต่อ ชั่วโมง (BTU/hr) (บีทียู เป็นหน่วยของความร้อน) เป็นค่าความสามารถในการลดพลังงานความร้อนของเครื่องปรับอากาศ โดยการลดพลังงานความร้อน 1 บีทียู จะทำให้น้ำบริสุทธิ์ที่หนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 453.6 มิลลิลิตร) เย็นลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ (5/9 องศาเซลเซียส)

ค่า EER

ค่า EER ย่อมาจาก Energy Efficiency Rating เป็นค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ โดยจะหาได้จาก ขนาดของเครื่องปรับอากาศ (บีทียู ต่อ ชั่วโมง) หารด้วย กำลังไฟฟ้าที่เครื่องปรับอากาศใช้ (วัตต์) เช่น เครื่องปรับอากาศ ขนาด 11,700 บีทียูต่อชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จะมีค่า EER = 11,700 หาร 1,000 = 11.7 เป็นต้น
หากเครื่องปรับอากาศมีค่า EER สูง จะมีความสามารถสูงขึ้น สามารถทำงานดูดความร้อนได้ในอัตรา (BTU/hr) ที่สูงขึ้น โดยใช้พลังงาน (วัตต์)เท่าเดิม หรือดูดความร้อนในอัตราเท่าเดิมโดยใช้พลังงานน้อยลง นั่นหมายถึง ยิ่งมีค่า EER สูง ยิ่งประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง
ค่า EER นี้ ถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินฉลากพลังงานด้วย โดยที่เครื่องปรับอากาศที่จะได้ฉลาดประหยัดไฟเบอร์ 5 ในประเทศไทย จะต้องมีค่า EER = 11.6 ขึ้นไป สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 27,296 บีทียู/ชั่วโมง และ 11.0 ขึ้นไป สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาด มากกว่า 27,296 บีทียู/ชั่วโมง

โทรทัศน์

 

โทรทัศน์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ  โทรทัศน์ขาวดำ (black and white television)  และโทรทัศน์สี (color television)  สำหรับโทรทัศน์สียังสามารถแบ่งได้อีกหลายประเภท  เช่น  โทรทัศน์สีทั่วไป  โทรทัศน์สีที่ใช้ระบบรีโมตคอนโทรล (remote control)  โทรทัศน์สีที่มีจอภาพแบบโค้งและแบบจอแบน  โทรทัศน์สีมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ที่ติดตั้งบริเวณหน้ารถยนต์ หรือขนาด 14 นิ้ว และ 20 นิ้ว  เป็นต้น  ตลอดจนขนาดใหญ่มากๆ  ซึ่งบางคนนิยมเรียกกันว่า home theater จะมีราคาสูงมาก
ขนาดของโทรทัศน์  เช่น  14 นิ้ว  20 นิ้ว นี้  ดูได้จากการวัดทแยงจากมุมหนึ่งไปยังอีกมุมหนึ่งของหน้าจอโทรทัศน์

ส่วนประกอบและการทำงาน 

โทรทัศน์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีวงจรสลับซับซ้อน  ดังนั้นส่วนประกอบของโทรทัศน์จึงพอสรุปให้เห็นได้ชัดเจน  ดังนี้
»  ส่วนประกอบภายนอก  คือ  ตัวโครงที่หุ้มท่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  จอภาพซึ่งจะมีการเคลือบสารพิเศษทางด้านใน  ปุ่มหรือสวิตช์ต่างๆ  จุดเสียบสายอากาศ  เป็นต้น
»  ส่วนประกอบภายใน  คือ  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ตัวรับ-เปลี่ยนสัญญาณของภาพและเสียงที่มาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  ส่วนประกอบของจอภาพและระบบเสียง  รวมทั้งลำโพง  เป็นต้น
การทำงานของโทรทัศน์นั้นจะเริ่มต้นจากเมื่อคลื่นของภาพและเสียงที่ออกมาจากแหล่งกำเนิด  เช่น  สถานีโทรทัศน์  มาสู่เสาอากาศที่เป็นตัวรับสัญญาณคลื่น  สัญญาณคลื่นจะส่งมาตามสายเข้าสู่ตัวรับสัญญาณภายในโทรทัศน์  ตัวรับสัญญาณคลื่นจะแยกคลื่นภาพกับคลื่นเสียงออกจากกัน  สัญญาณคลื่นภาพจะถูกส่งไปยังหลอดจอภาพเพื่อเปลี่ยนสัญญาณคลื่นเป็นสัญญาณไฟฟ้า
การเปลี่ยนสัญญาณคลื่นเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ขั้วของหลอดภาพจะก่อให้เกิดลำอิเล็กตรอนวิ่งจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง  คือ  จอภาพที่ด้านในเคลือบสารชนิดหนึ่ง  เมื่อลำอิเล็กตรอนวิ่งไปกระทบจอภาพก็ทำให้เกิดภาพโดยการถ่ายเทพลังงานในลักษณะนิ่ง  เรียกว่า  การกวาดภาพ  โดยกวาดเป็นเส้นทางตามแนวนอนจำนวน 525 เส้น  หรือแบบ 625 เส้น  ก่อให้เกิดรูปภาพออกมาทางด้านหน้าของจอภาพตามที่เราเห็นอันเนื่องมาจากการเรียงของสารเคลือบนั้น

การเลือกใช้อย่างถูกวิธีและประหยัดพลังงาน

1.  การเลือกใช้โทรทัศน์ควรคำนึงถึงความต้องการใช้งาน  โดยพิจารณาจากขนาดและการใช้กำลังไฟ
2.  โทรทัศน์สีระบบเดียวกันแต่ขนาดต่างกัน จะใช้พลังงานต่างกันด้วย  กล่าวคือ  โทรทัศน์สีที่มีขนาดใหญ่และมีราคาแพงกว่า  จะใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าโทรทัศน์สีขนาดเล็ก  เช่น
»  ระบบทั่วไป  ขนาด 16 นิ้ว  จะเสียค่าไฟฟ้ามากกว่าขนาด 14 นิ้ว  ร้อยละ 5
»  ขนาด 20 นิ้ว จะเสียค่าไฟฟ้ามากกว่าขนาด 14 นิ้ว  ร้อยละ 30
»  ระบบรีโมตคอนโทรลขนาด 16 นิ้ว  จะเสียค่าไฟฟ้ามากกว่าขนาด 14 นิ้ว  ร้อยละ 5
3.  โทรทัศน์สีที่มีระบบรีโมตคอนโทรลจะใช้ไฟมากกว่าโทรทัศน์สีระบบทั่วไปที่มีขนาดเดียวกัน  เช่น
»  โทรทัศน์สีขนาด 16 นิ้ว  ระบบรีโมตคอนโทรล  เสียค่าไฟฟ้ามากกว่าระบบธรรมดา  ร้อยละ 5
»  โทรทัศน์สีขนาด 20 นิ้ว  ระบบรีโมตคอนโทรล  เสียค่าไฟฟ้ามากกว่าระบบธรรมดา  ร้อยละ 18
4.  อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้  เพราะโทรทัศน์จะมีไฟฟ้าหล่อเลี้ยงระบบภายในอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายในขณะที่ฟ้าแลบได้
5.  ปิดสวิตช์เมื่อไม่มีคนดู  หรือตั้งเวลาปิดโทรทัศน์โดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า
6.  ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องเล่นวิดีโอในขณะที่ไม่ต้องการใช้  เพราะเครื่องเล่นวิดีโอจะทำงานอยู่ตลอดเวลา  จึงทำให้เสียค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น
7.  พิจารณาเลือกดูรายการเอาไว้ล่วงหน้า  ดูเฉพาะรายการที่เลือกตามช่วงเวลานั้น  หากดูรายการเดียวกันควรเปิดโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว

การดูแลรักษาโทรทัศน์ 

การดูแลรักษาและการใช้โทรทัศน์อย่างถูกวิธีนอกจากจะช่วยให้โทรทัศน์เกิดความคงทน  ภาพที่ได้ชัดเจนและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นแล้ว  ผลพลอยได้อีกส่วนหนึ่งก็คือ  ประหยัดพลังงาน
1.  ควรเลือกใช้เสาอากาศภายนอกบ้านที่มีคุณภาพดี  และติดตั้งถูกต้องตามหลักวิชาการ  เช่น  หันเสาไปทางที่ตั้งของสถานีในลักษณะให้ตั้งฉาก  เป็นต้น
2.  ควรวางโทรทัศน์ไว้ในจุดที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี  และตั้งห่างจากผนังหรือมูลี่อย่างน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร  เพื่อให้สามารถระบายความร้อนได้สะดวก
3.  ไม่ควรปรับจอให้สว่างมากเกินไป  เพราะจะทำให้หลอดภาพมีอายุสั้นและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น
4.  ใช้ผ้านุ่มเช็ดตู้โทรทัศน์  ส่วนจอภาพควรใช้ผงซักฟอกอย่างอ่อนหรือน้ำยาล้างจานผสมกับน้ำ  เช็ดเบาๆ แล้วเช็ดด้วยผ้านุ่มให้แห้ง  โดยอย่าลืมถอดปลั๊กออกก่อนทำความสะอาด
5.  อย่าถอดด้านหลังของเครื่องด้วยตัวเอง  เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโทรทัศน์ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์สีจะผลิตกระแสไฟฟ้าแรงสูง (high voltage)  ซึ่งเป็นอันตรายต่อการสัมผัส  แม้ว่าจะปิดไฟแล้วก็ตา

 

พัดลม

 

พัดลม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ  พัดลมตั้งโต๊ะ  พัดลมตั้งพื้น  และพัดลมติดผนัง  ซึ่งทั้งหมดมีหลักการทำงานคล้ายคลึงกัน

ส่วนประกอบและการทำงาน

1.  ส่วนประกอบของพัดลมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ  คือ  ใบพัดและตะแกรงคลุมพัดลม  มอเตอร์ไฟฟ้า  สวิตช์ควบคุมการทำงาน  และกลไกที่ทำให้พัดลมหยุดกับที่หรือหมุนส่ายไป
2.  พัดลมจะทำงานได้เมื่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ  และเมื่อกดปุ่มเลือกให้แรงหรือเร็วตามที่ผู้ใช้ต้องการ  กระแสไฟฟ้าจึงไหลเข้าสู่มอเตอร์  ทำให้แกนมอเตอร์หมุน  ใบพัดที่อยู่ติดกับแกนก็จะหมุนตามไปด้วย  จึงเกิดลมพัดออกมา

การเลือกใช้อย่างถูกวิธีและประหยัดพลังงาน 

พัดลมตั้งโต๊ะจะมีราคาต่ำกว่าพัดลมตั้งพื้น  และใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำกว่า  ทั้งนี้เพราะมีขนาดมอเตอร์และกำลังไฟต่ำกว่า  แต่พัดลมตั้งพื้นจะให้ลมมากกว่า  ดังนั้น  ในการเลือกใช้จึงมีข้อที่ควรพิจารณาดังนี้
1.  พิจารณาตามความต้องการและสถานที่ที่ใช้  เช่น  ถ้าใช้เพียงคนเดียว  หรือไม่เกิน 2 คน  ควรใช้พัดลมตั้งโต๊ะ
2.  อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้  โดยเฉพาะพัดลมที่มีระบบรีโมตคอนโทรล  เพราะจะมีไฟฟ้าไหลเข้าตลอดเวลาเพื่อหล่อเลี้ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3.  ควรเลือกใช้ความแรงหรือความเร็วของลมให้เหมาะสมกับความต้องการและสถานที่เพราะหากความแรงของลมมากขึ้นจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
4.  เมื่อไม่ต้องการใช้พัดลมควรรีบปิด  เพื่อให้มอเตอร์ได้มีการพักและไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป
5.  ควรวางพัดลมในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  เพราะใบพัดลมใช้หลักการดูดอากาศจากบริเวณรอบๆ ทางด้านหลังของตัวใบพัดลม  แล้วปล่อยออกสู่ด้านหน้า  เช่น  ถ้าอากาศบริเวณรอบพัดลมอับชื้น  ก็จะได้ลมในลักษณะลมร้อนและอับชื้นเช่นกัน  นอกจากนี้มอเตอร์ยังระบายความร้อนได้ดีขึ้น  ไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป

การดูแลรักษาพัดลม 

การดูแลรักษาพัดลมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้พัดลมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยยืดอายุการทำงานให้นานขึ้น  โดยมีวิธีการดังนี้
1.  หมั่นทำความสะอาดตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบพัดลมและตะแกรงครอบใบพัด  อย่าให้ฝุ่นละอองเกาะจับ  และต้องดูแลให้มีสภาพดีอยู่เสมอ  อย่าให้แตกหัก  ชำรุด  หรือโค้งงอผิดสัดส่วนจะทำให้ลมที่ออกมามีความแรงหรือความเร็วลดลง
2.  หมั่นทำความสะอาดช่องลมตรงฝาครอบมอเตอร์ของพัดลม  ซึ่งเป็นช่องระบายความร้อนของมอเตอร์  อย่าให้มีคราบน้ำมันหรือฝุ่นละอองเกาะจับ  เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของมอเตอร์ลดลงและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น


 

กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า


กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า  เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์ในการต้มน้ำให้ร้อนเพื่อใช้ดื่ม  และจัดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองไฟฟ้าสูงเช่นเดียวกับเตารีดไฟฟ้า  โดยอาศัยหลักการทำงานเช่นเดียวกัน  คือ  ให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดความร้อนที่อยู่ภายในอุปกรณ์  แล้วนำความร้อนนั้นไปใช้ประโยชน์  เช่น  กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าใช้ต้มน้ำร้อน  ส่วนเตารีดไฟฟ้าใช้ในการรีดผ้าให้เรียบ  ซึ่งกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีขนาดที่ใช้กำลังไฟฟ้าระหว่าง 500-1,300 วัตต์  ดังนั้นหากเรารู้จักใช้อย่างถูกวิธีก็จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้

ส่วนประกอบและการทำงาน

ส่วนประกอบหลักของกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า  ประกอบด้วยขดลวดความร้อน (heater) อยู่ด้านล่างของตัวกระติก  และอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (thermostat)  เป็นอุปกรณ์ควบคุมการทำงาน
1.  หลักการทำงานของกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า  คือ  เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดความร้อนจะเกิดความร้อน  ความร้อนจะถ่ายเทไปยังภายในกระติกน้ำร้อนซึ่งจะทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงจุดเดือด  อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิจะตัดกระแสไฟฟ้าในวงจรหลักออกไป  แต่ยังคงมีกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดความร้อนเป็นบางส่วน  โดยไหลผ่านหลอดไฟสัญญาณอุ่น  ในช่วงนี้จะเป็นการอุ่นน้ำ  เมื่ออุณหภูมิของน้ำร้อนภายในกระติกลดลงจนถึงจุดๆ หนึ่ง  อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิจะทำงานโดยปล่อยให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดความร้อนเต็มที่  ทำให้น้ำเดือดอีกครั้ง
2.  การปล่อยน้ำออกจากกระติกน้ำร้อนทำได้โดยกดที่ฝากดอากาศซึ่งอยู่ทางด้านบนของกระติกน้ำร้อน  อากาศจะถูกอัดเข้าไปภายในกระติกน้ำร้อนโดยผ่านทางรูระบายอากาศของฝาปิดภายในของกระติกน้ำร้อน  ดังนั้นภายในกระติกน้ำร้อนจึงมีแรงกดดันที่มากพอจะให้น้ำที่อยู่ภายในวิ่งขึ้นไปตามท่อและไหลออกมาได้

การเลือกใช้อย่างถูกวิธีและประหยัดพลังงาน

1.  ควรเลือกซื้อรุ่นที่มีฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพ
2. ใส่น้ำให้พอเหมาะกับความต้องการหรือไม่สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้  เพราะนอกจากจะไม่ประหยัดพลังงานแล้ว  ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระติกน้ำร้อน
3.  ระวังอย่าให้น้ำแห้งหรือปล่อยให้ระดับน้ำต่ำกว่าขีดที่กำหนดไว้  เพราะเมื่อน้ำแห้งจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในกระติกน้ำ  เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
4.  ถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้น้ำร้อนแล้วเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงาน  ไม่ควรเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา  แต่ถ้าหากมีความต้องการใช้น้ำร้อนเป็นระยะๆ ติดต่อกัน  เช่น  ในสถานที่ทำงานบางแห่งที่มีน้ำร้อนไว้สำหรับเตรียมเครื่องดื่มต้อนรับแขก  ก็ไม่ควรดึงปลั๊กออกบ่อยๆ เพราะทุกครั้งเมื่อดึงปลั๊กออก  อุณหภูมิของน้ำร้อนจะค่อยๆ ลดลง  กระติกน้ำร้อนไม่สามารถเก็บความร้อนได้นาน  เมื่อจะใช้งานใหม่ก็ต้องเสียบปลั๊กและเริ่มทำการต้มน้ำใหม่  เป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน
5.  ไม่ควรเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลาถ้าไม่ต้องการใช้น้ำร้อนแล้ว
6.  อย่านำสิ่งใดๆ มาปิดช่องไอน้ำออกไว้
7.  ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้เสมอ
8.  ไม่ควรตั้งกระติกน้ำร้อนไว้ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ

การดูแลรักษากระติกน้ำร้อน 

การดูแลรักษากระติกน้ำร้อนให้มีอายุการใช้งานให้นานขึ้นและลดการใช้พลังงานลง และป้องกันอุบัติเหตุหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้  มีวิธีการดังนี้
1.  หมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้าและปลั๊ก  ซึ่งมักเป็นจุดที่ขัดข้องเสมอ
2.  ควรต้มน้ำที่สะอาดเท่านั้น  มิฉะนั้นผิวในกระติกอาจเปลี่ยนสี  เกิดคราบสนิมและตะกรัน
3.  หมั่นทำความสะอาดตัวกระติกด้านใน  อย่าให้มีคราบตะกรัน  เพราะจะเป็นตัวต้านทานการถ่ายเทความร้อนจากขดลวดความร้อนไปสู่น้ำ  เพิ่มเวลาการต้มน้ำและสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
4.  เมื่อไม่ต้องการใช้กระติกควรล้างกระติกด้านในให้สะอาด  แล้วคว่ำกระติกลงเพื่อให้น้ำออกจากกระติก  แล้วใช้ผ้าเช็ดกระติกด้านในให้แห้ง
5.  ก่อนทำความสะอาดด้านในกระติกควรเทน้ำภายในออกให้หมด  รอให้ตัวกระติกเย็นจึงค่อยทำความสะอาด
6.  ควรทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของกระติกตามคำแนะนำต่อไปนี้  ตัวและฝากระติกใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดแล้วเช็ดอย่างระมัดระวัง  ฝาปิดด้านใน  ใช้น้ำหรือน้ำยาล้างจานเช็ดให้สะอาด  ตัวกระติกด้านใน  ใช้ฟองน้ำชุบแล้วเช็ดให้ทั่ว  ล้างให้สะอาดด้วยน้ำ  เทน้ำที่ใช้แล้วออกให้หมด  อย่าราดน้ำลงส่วนอื่นของตัวกระติกนอกจากภายในกระติกเท่านั้น  อย่าใช้ของมีคมหรือฝอยขัดขูดหรือขัดตัวกระติกด้านในเพราะจะทำให้สารเคลือบหลุดด้วย

 

เครื่องดูดฝุ่น

 

เครื่องดูดฝุ่น เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดบ้านและทำความสะอาดภายในรถยนต์และสถานที่อื่นๆ ตามที่ต้องการ  เครื่องดูดฝุ่นมีหลายขนาด  หลายรูปแบบ  หลายราคาให้เลือกใช้ได้ตามความต้องการ  โดยดูจากลักษณะของการใช้งานและขนาดของพื้นที่ที่จะใช้งาน

ส่วนประกอบและการทำงาน

ส่วนประกอบหลักของเครื่องดูดฝุ่นประกอบด้วย 5 ส่วน  คือ  พัดลมดูด  มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนพัดลมถุงผ้าหรือกล่องเก็บฝุ่น  หัวดูดหลายแบบ และท่อดูดที่สามารถขยายความยาวได้ตามประโยชน์ใช้สอย และแผ่นกรองหรือตะแกรงดักฝุ่นละอองไม่ให้ผ่านเข้ามอเตอร์  เครื่องดูดฝุ่นจะเริ่มทำงานเมื่อเปิดสวิตช์พัดลมดูด  พัดลมดูดจะดูดเอาฝุ่นละอองเข้าไปตามท่อดูดและถูกเก็บไว้ที่ถุงเก็บหรือกล่องเก็บฝุ่น

การเลือกใช้อย่างถูกวิธีและประหยัดพลังงาน

1.  ควรเลือกขนาดของเครื่องตามความจำเป็นในการใช้งาน  เช่น  พื้นบ้านที่เป็นพรมหรือผ้า  ฝุ่นละอองจะเกาะได้อย่างแน่นหนา  ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีขนาดกำลังไฟฟ้ามาก  ส่วนพื้นบ้านที่เป็นพื้นไม้  พื้นปูนหรือหินอ่อน  ฝุ่นละอองไม่เกาะติดแน่นมากก็เลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีกำลังไฟฟ้าต่ำ  เพื่อประหยัดไฟฟ้า
2.  ก่อนดูดฝุ่นในห้องควรเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเป็นการระบายความร้อนของมอเตอร์ไฟฟ้าของเครื่องดูดฝุ่นด้วย
3.  ตรวจสอบข้อต่อของท่อดูดเครื่องดูดฝุ่นหรือชิ้นส่วนต่างๆ ทุกครั้งก่อนใช้งาน หากส่วนใดหลวมต้องขยับให้แน่น เพื่อไม่ให้อากาศรั่วออก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องลดลง มอเตอร์ต้องทำงานหนักขึ้นจนอาจไหม้ได้
4.  ควรหมั่นถอดตัวกรองหรือตะแกรงดักฝุ่นออกมาทำความสะอาด เพราะถ้าเกิดการอุดตันจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและต้องใช้เวลาในการดูดฝุ่นนานมากขึ้น  เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า  ทำให้มอเตอร์ทำงานหนักมากขึ้น
5.  ไม่ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดวัตถุที่มีส่วนประกอบของน้ำ  ความชื้นและของเหลวต่างๆ รวมทั้งสิ่งของที่มีคมและของที่กำลังติดไฟ  เช่น  เปลือกผลไม้สด  ใบมีดโกน  บุหรี่  เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อส่วนประกอบของตัวเครื่องได้
6.  เลือกหัวดูดฝุ่นให้เหมาะกับลักษณะฝุ่นหรือสถานที่  เช่น  หัวดูดชนิดปากปลายแหลม จะใช้กับบริเวณที่เป็นซอกเล็กๆ ส่วนหัวดูดที่มีแปรงใช้กับโคมไฟ  เพดาน  และกรอบรูป  เป็นต้น
7.  หมั่นถอดถุงผ้าหรือกล่องเก็บฝุ่นออกมาเททิ้ง  อย่าให้สะสมจนเต็มเพราะจะทำให้มอเตอร์ต้องทำงานหนักอาจไหม้ได้

การดูแลรักษาเครื่องดูดฝุ่น 

1.  ควรหมั่นทำความสะอาดส่วนต่างๆ  ของตัวเครื่องให้สะอาด อย่าปล่อยให้อุดตัน
2.  ปรับรูปแบบของการใช้งานแต่ละครั้งให้เหมาะสม  เช่น  ปรับกำลังดูดให้เหมาะสมกับงานประเภทนั้นๆ
3.  สายดูดและท่อควรเก็บให้อยู่ในสภาพปกติ  ไม่หักพับหรือวางสิ่งของทับจนลีบแบน เพราะจะทำให้การดูดฝุ่นไม่สะดวก

ข้อควรระวังในการใช้เครื่องดูดฝุ่น

1.  อย่านำตัวเครื่องดูดฝุ่นไปล้างน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดไฟฟ้าชอร์ตได้
2.  เครื่องดูดฝุ่นที่มีสายไฟยาว  อย่านำสายไฟพาดบ่าหรือคล้องคอ  เพราะสายไฟอาจรั่วจะถูกไฟดูดได้


เครื่องซักผ้า

 

เครื่องซักผ้า  เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก  เพราะเครื่องซักผ้าควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์  สามารถตั้งโปรแกรมการทำงานได้ตามที่ต้องการ  ตั้งแต่การปล่อยน้ำเข้าสู่เครื่อง  การซัก  การล้าง  และการปั่นผ้าให้หมาด  การควบคุมอุณหภูมิของน้ำ  การใส่ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม  ทุกขั้นตอนจะเป็นระบบอัตโนมัติ  มีเสียงเตือนให้ทราบเมื่อการทำงานสิ้นสุดลง
เครื่องซักผ้าแบ่งออกได้  2 ประเภท  คือ
1.  เครื่องซักผ้าแบบกึ่งอัตโนมัต  จะมีถังซักและถังปั่นแยกออกจากกัน  เครื่องซักผ้าแบบนี้ต้องคอยดูการทำงานของเครื่องเป็นระยะตลอดเวลา  เพราะเมื่อซักเสร็จก็ต้องย้ายผ้ามาปั่นแห้งในถังปั่นแห้ง
2.  เครื่องซักผ้าแบบอัตโนมัต  มี 2 แบบ  คือ  แบบฝาเปิดด้านบน และแบบฝาเปิดด้านข้างเครื่องซักผ้าแบบอัตโนมัติจะทำงานทุกอย่างในถังเดียว  คือ  ซักผ้า  ซักน้ำ และปั่นหมาดในถังเดียวกัน

วิธีการใช้เครื่องซักผ้าให้ประหยัดพลังงานและปลอดภัย

1.  เลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนเสื้อผ้าของครอบครัวที่ต้องซักในแต่ละครั้ง
2.  ศึกษาคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามที่คู่มือแนะนำ
3.  ซักผ้าตามพิกัดของเครื่อง  อย่าใส่ผ้าจนอัดแน่นจนเกินกำลังของเครื่อง  เพราะจะทำให้เครื่องทำงานหนักมากขึ้น  มอเตอร์อาจไหม้ได้
4.  คัดแยกเนื้อผ้าก่อนซัก  เพื่อให้เครื่องสมดุลไม่เกิดการเหวี่ยงในขณะปั่น และควรนำสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในกระเป๋าหรือติดอยู่กับเสื้อผ้า  เช่น  เงินเหรียญ  เข็มกลัด  เป็นต้น  ออกก่อนนำเสื้อผ้าใส่ลงในเครื่อง
5.  ควรแช่ผ้าก่อนนำเข้าเครื่อง  จะช่วยให้ซักผ้าได้สะอาดมากขึ้น
6.  ไม่ควรซักผ้าทีละ 2-3 ชิ้น  เพราะสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า  และควรใช้น้ำร้อนซักผ้าเมื่อจำเป็นเท่านั้น
7.  หลีกเลี่ยงการใช้โปรแกรมมอบผ้าแห้ง  ควรใช้วิธีการผึ่งลมหรือแดดแทน  เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า
8.  ต้องต่อสายดินและหมั่นตรวจสอบไฟรั่วด้วยไขควงลองไฟอยู่เสมอ
9.  ขณะใช้งานอย่าเปิดฝาเครื่อง  เพราะจะทำให้โปรแกรมการทำงานสะดุด  หรือหยุดทำงาน
10.  ติดตั้งเครื่องซักผ้าไว้ในที่แห้ง  ไม่ควรตั้งเครื่องซักผ้าไว้ในห้องน้ำ  เพราะมีความชื้นสูง  เครื่องจะผุเร็ว
11.  ควรใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าที่ใช้สำหรับเครื่องซักผ้าเท่านั้น  เพื่อลดปัญหาการเกิดฟองล้นถัง  ซึ่งจะทำให้ตัวถังเสียหายได้

การดูแลรักษาเครื่องซักผ้า

1.  ควรถอดช่องใส่ผงซักฟอกและช่องใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มออกมาล้างทำความสะอาดเป็นระยะๆ โดยใช้แปรงสีฟันขัดล้างทำความสะอาด
2.  ตัวถังภายนอกควรใช้ฟองน้ำหรือผ้าชุบน้ำอุ่นหมาดๆ เช็ดทำความสะอาด
3.  ขอบยาง หลังการใช้งานควรเช็ดให้แห้งทุกครั้ง และควรเปิดฝาเครื่องทิ้งไว้ เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นอับชื้นและเกิดเชื้อราได้ง่าย
4.  ตัวถังภายใน ควรล้างทำความสะอาดเดือนละครั้ง โดยตั้งโปรแกรมซักผ้าเนื้อหนา ตั้งอุณหภูมิน้ำไว้ที่สูงสุด เปิดเครื่องและปล่อยให้เครื่องทำงานจนจบโปรแกรม ถ้าไม่มีโปรแกรมน้ำร้อนให้นำน้ำส้มสายชู 1 ขวด เทใส่ลงไปในถังซัก ตั้งโปรแกรมการซักผ้าเนื้อหนา และสกปรกปานกลาง   เปิดเครื่องและปล่อยให้เครื่องทำงานจนจบโปรแกรม
5.  ฝาเครื่องและกระจก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านใน
6.  ไส้กรองน้ำทิ้ง ควรถอดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีเศษผงอุดตันได้

ข้อควรระวังในการใช้เครื่องซักผ้า

1.  ระวังอย่าให้น้ำหรือของเหลว หกรดแผงควบคุม เพราะอาจทำให้ระบบควบคุมการทำงานเสียหายได้
2.  อย่าวางเครื่องซักผ้าไว้บริเวณที่น้ำท่วมถึงหรือวางชิดกับผนังมากเกินไป เพราะในขณะที่เครื่องทำงานจะสั่นสะเทือนอาจทำให้ตัวเครื่องกระแทกกับผนังเสียหายได้


เครื่องถ่ายเอกสาร

เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นอุปกรณ์สำนักงานอย่างหนึ่งซึ่งใช้ในการสำเนาเอกสาร โดยการใช้ความร้อน หรือหลักไฟฟ้าสถิต ในการอ่านเอกสารต้นฉบับและ พิมพ์เอกสารอีกฉบับออกมา
เครื่องถ่ายเอกสารระบบไฟฟ้าสถิต
เครื่องถ่ายเอกสารระบบไฟฟ้าสถิต เป็นกระบวนการถ่ายเอกสารแบบใช้กระดาษเคลือบ ซึ่งใช้ประจุไฟฟ้าลบในการถ่ายทอดภาพจากต้นฉบับ เช่นเดียวกับเครื่องถ่ายเอกสารแบบใช้กระดาษธรรมดา แต่กระบวนการของระบบไฟฟ้าสถิต ใช้วัสดุและเทคนิคคล้ายกับการอัดรูปถ่าย กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการทำให้กระดาษเคลือบมีประจุไฟฟ้าลบ แล้วปล่อยให้กระดาษเคลือบสัมผัส กับลำแสงที่สะท้อนมาจากต้นฉบับ จากนั้นผ่านกระดาษลงในสารละลายออกและเป่าให้แห้งด้วยอากาศร้อนก่อนออกจากเครื่อง กระดาษเคลือบเป็นกระดาษที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ หน้ากระดาษด้านที่สัมผัสกับแสงเคลือบด้วยซิงค์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่มีความไวต่อแสง ส่วนด้านหลังกระดาษเคลือบด้วยสารละลายเรซินซึ่งจะอุดรูพรุนของกระดาษ ทำให้กระดาษ ไม่ดูดซับของเหลวเมื่อถูกจุ่มลงในสารละลาย เนื่องจากกระดาษมีความไวต่อแสง ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง นอกจากในช่วงเวลาที่ถ่ายเอกสารเท่านั้น
เครื่องถ่ายเอกสารระบบสอดสี
เครื่องถ่ายเอกสารนี้ สามารถให้ภาพสีบนกระดาษธรรมดา โดยการผสมกันของผงหมึกแม่สี 3 สี คือ สีเหลือง (Yellow) , สีฟ้า (Cyan) , และสีแดง (Magenta) การผสมกันของ ผงหมึกแม่สีทั้งสามสี จะได้สีเขียว (Green) , สีแดง (Red) , สีน้ำเงิน (Blue) และสีดำ (Black) เพิ่มขึ้นมา รวมเป็นสีทั้ง หมด 7 สีด้วยกัน กระบวนการถ่ายเอกสารมีความเร็วมาก การถ่ายเอกสารที่ใช้สีครบเต็มอัตรา ใช้เวลาประมาณ 33 วินาที สำหรับแผ่นแรกและหากใช้ต้นฉบับเดิม แผ่นต่อ ๆ มาจะใช้เวลาแผ่นละประมาณ 18 วินาทีเท่านั้น และหากเลือกจำนวนสีน้อยลง กระบวนการถ่ายเอกสารก็จะยิ่งใช้เวลาน้อยกว่าเดิมอีก บนแผงหน้าปัด ของเครื่องถ่ายเอกสารจะมีปุ่มสำหรับเลือกจำนวนสีและความเข้มที่ต้องการ
 

โทรสาร หรือ โทรภาพ

โทรสาร หรือ โทรภาพ (อังกฤษ: facsimile, fax แฟกซ์) คือเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่างหนึ่งใช้สำหรับโอนถ่ายข้อมูลสำเนาของเอกสาร ผ่านทางอุปกรณ์บนเครือข่ายโทรศัพท์ที่เรียกว่า เครื่องโทรสาร หรือ telecopier ในอุตสาหกรรมบางประเภท การส่งสำเนาเอกสารจากระยะไกลไปยังบุคคลหนึ่ง ข้อดีคือรวดเร็วกว่าการส่งทางไปรษณีย์ แต่ข้อเสียคือเอกสารที่ได้รับอาจมีคุณภาพต่ำ และรูปแบบที่จัดวางไว้อาจไม่ตรงตำแหน่งหรือผิดเพี้ยนไป ปัจจุบันโทรสารได้ลดความนิยมลงไป เนื่องจากนิยมส่งเอกสารทางอีเมลแทน ซึ่งจะไม่เกิดข้อเสียดังกล่าว
     facsimile มาจากภาษาละติน fac simile แปลว่า การทำให้เหมือนกัน หรือการทำสำเนา บางครั้งในภาษาอังกฤษมีการใช้คำว่า telefacimile หรือ telefax หมายถึง การทำสำเนาระยะไกล
พจนานุกรมคำใหม่ของราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้สามารถเขียนทับศัพท์คำว่า "fax" เป็นภาษาไทยได้ทั้ง "แฟกซ์" ตามความนิยม และ "แฝ็กซ์" ตามเสียงอ่าน



 
โทรศัพท์มือถือ หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่

โทรศัพท์มือถือ หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (และมีการเรียก วิทยุโทรศัพท์) คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการสื่อสารสองทางผ่าน โทรศัพท์มือถือใช้คลื่นวิทยุในการติดต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยผ่านสถานีฐาน โดยเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือแต่ละผู้ให้บริการจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ โทรศัพท์บ้านและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการอื่น โทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นในลักษณะคอมพิวเตอร์พกพาจะถูกกล่าว ถึงในชื่อสมาร์ตโฟน
    โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนอกจากจากความสามารถพื้นฐานของโทรศัพท์แล้ว ยังมีคุณสมบัติพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นมา เช่น การส่งข้อความสั้นเอสเอ็มเอส ปฏิทิน นาฬิกาปลุก ตารางนัดหมาย เกม การใช้งานอินเทอร์เน็ต บลูทูธ อินฟราเรด กล้องถ่ายภาพ เอ็มเอ็มเอส วิทยุ เครื่องเล่นเพลง และ จีพีเอส
  โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องแรกถูกผลิตและออกแสดงในปี พ.ศ. 2516 โดย มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) นักประดิษฐ์จากบริษัทโมโตโรลา เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 1.1 กิโลกรัม ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2543 ที่มีจำนวน 12.4 ล้านคน มาเป็น 4,600 ล้านคน
วิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ
·         1G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ analog ระบบที่จัดอยู่ในยุคนี้เช่น NMT, AMPS, DataTac
·         2G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ digital ระบบที่จัดอยู่ในยุคนี้เช่น GSM, cdmaOne, PDC
·         2.5G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ digital ที่เริ่มนำระบบ packet switching มาใช้ ระบบที่จัดอยู่ในยุคนี้เช่น GPRS
·         2.75G ระบบที่จัดอยู่ในยุคนี้เช่น CDMA2000 1xRTT, EDGE
·         3G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ digital ที่มีความสามารถครบทั้งการสื่อสารด้วยเสียงและข้อมูลรวมถึงวิดีโอ ระบบที่จัดอยู่ในยุคนี้เช่น W-CDMA, TD-SCDMA, CDMA2000 1x-EVDO
·         3.5G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ digital ที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้นกว่า 3G เช่น HSDPA ใน W-CDMA
·         4G ระบบโทรศัพท์มือถือแบบ Real-Digital สามารถเชื่อมต่อข้อมูล 3 แบบ ภาคพื้นดิน CDMA PA-H และการเชื่อมต่อ ewifi และ Wi-Max เพื่อการเชื่อมภาพและเสียงเป็นข้อมูลเดียวกัน
ระบบปฏิบัติการมือถือ
·         ซิมเบียน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในค่ายโนเกีย
·         วินโดวส์โมบาย จะใช้กับโทรศัพท์มือถือที่เป็น PDA (Personal digital assistants)
·         ไอโอเอส (ios) ใช้เฉพาะใน ไอโฟน ไอแพด และ ไอพอดทัช
·         BlackBerry OS (BB)
·         แอนดรอยด์ จากทาง google
·         มีโก (MeeGo) จากทางโนเกีย(nokia)

ผลกระทบต่อสุขภาพ
ความเชื่อที่ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวนั้น ปัจจุบันได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้ว โดยองค์การฯ ได้บรรจุโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ในรายชื่อวัตถุก่อมะเร็ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554โดยจัดว่ารังสีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น "วัตถุก่อมะเร็ง" และ "อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์" ได้ รายงานดังกล่าวออกมาหลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับความ ปลอดภัยของโทรศัพท์เคลื่อนที่งานวิจัยหนึ่งว่าด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในอดีตนั้นได้ถูกอ้างอิงใน รายงานซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างหนักจะมีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองมากขึ้น ถึง 40% (รายงานการใช้โดยเฉลี่ย 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 10 ปี) ซึ่งรายงานดังกล่าวตรงกันข้ามกับการสรุปก่อนหน้านี้ซึ่งไม่คาดว่ามะเร็งจะ เกิดขึ้นเป็นผลมาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสถานีฐาน และการทบทวนดังกล่าวไม่ได้พบหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพด้าน อื่นแต่อย่างใด


หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา หรือ หลอดความร้อน หรือ หลอดไส้

หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา หรือ หลอดความร้อน หรือ หลอดไส้ (อังกฤษ: incandescent light bulb, incandescent lamp หรือ incandescent light globe) ให้แสงสว่างโดยการให้ความร้อนแก่ไส้หลอดที่เป็นลวดโลหะกระทั่งมีอุณหภูมิสูงและเปล่งแสง ไส้ที่ร้อนนั้นถูกป้องไม่ให้สัมผัสอากาศโดยหลอดแก้วที่เติมแก๊สเฉื่อยหรือที่เป็นสุญญากาศ ในหลอดฮาโลเจน กระบวนการทางเคมีคืนให้โลหะเป็นไส้หลอด ซึ่งขยายอายุการใช้งาน หลอดไฟฟ้านี้ได้รับกระแสไฟฟ้าโดยเทอร์มินอลต่อสายไฟ (feed-through terminal) หรือลวดที่ฝังในแก้ว หลอดไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้ในเต้ารับซึ่งสนับสนุนหลอดไฟฟ้าทางกลไกและเชื่อมกระแสไฟฟ้าเข้ากับเทอร์มินัลไฟฟ้าของหลอด หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาผลิตออกมาในหลายขนาด กำลังส่องสว่าง และอัตราทนความต่างศักย์ จาก 1.5 โวลต์ไปจนถึงราว 300 โวลต์ หลอดประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ควบคุมภายนอก มีค่าบำรุงรักษาต่ำ และทำงานได้ดีเท่ากันทั้งไฟฟ้ากระแสสลับหรือกระแสตรง ด้วยเหตุนี้ หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาจึงใช้กันอย่างกว้างขวางในครัวเรือนและไฟฟ้าใช้ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนไฟฟ้าแบบพกพา อย่างเช่น ไฟตั้งโต๊ะ ไฟหน้ารถยนต์ และไฟฉาย และไฟฟ้าสำหรับตกแต่งและโฆษณา การนำไปใช้ประโยชน์บางอย่างของหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาใช้ความร้อนที่เกิดขึ้นจากไส้หลอด อาทิ เครื่องฟักไข่ กล่องฟักไข่สำหรับสัตว์ปีก ไฟความร้อนสำหรับสวนจำลองสภาพแวดล้อม (vivarium) ของสัตว์เลื้อยคลาน การให้ความร้อนอินฟราเรดในกระบวนการให้ความร้อนและอบแห้งในอุตสาหกรรม ความร้อนส่วนเกินนี้เพิ่มพลังงานที่ต้องใช้ในระบบปรับอากาศของอาคาร หลอดไฟฟ้าแบบอื่นค่อย ๆ แทนที่การใช้งานของหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาหลายด้าน อาทิ หลอดฟลูออเรสเซนต์, หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (หลอดตะเกียบ), หลอดฟลูออเรสเซนต์แคโทดเย็น, หลอดอัดก๊าซความดันสูง และไดโอดเปล่งแสง เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเหล่านี้พัฒนาอัตราส่วนแสงที่มองเห็นได้ต่อการผลิตความร้อน เขตอำนาจบางแห่ง เช่น สหภาพยุโรป อยู่ในระหว่างกระบวนการเลิกใช้หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาและหันไปใช้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่า
ประวัติศาสตร์
     ในการตอบคำถามว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไส้ นักประวัติศาสตร์โรเบิร์ต ฟรีเดล และพอล อิสราเอล ทำรายการนักประดิษฐ์หลอดไส้ 22 คน ก่อนโจเซฟ สวอน และโทมัส เอดิสัน พวกเขาสรุปว่ารุ่นของเอดิสันนั้นล้ำหน้าของคนอื่น เพราะการประกอบกันของสามปัจจัย ได้แก่ (1) วัสดุเปล่งแสงที่มีประสิทธิภาพ, (2) สุญญากาศที่สูงกว่าที่คนอื่น ๆ สามารถทำสำเร็จ และ (3) ความต้านทานไฟฟ้าที่สูงซึ่งทำให้การแจกจ่ายพลังงานจากแหล่งกลางทำงานได้อย่างประหยัด
     ค.ศ. 1802 ฮัมฟรี เดวี ได้ประดิษฐ์สิ่งที่ในขณะนั้นเป็นแบตเตอรีไฟฟ้าที่ทรงพลังที่สุดในโลกที่ราชสมาคมแห่งบริเตนใหญ่ ซึ่งเขาสร้างหลอดไส้โดยส่งกระแสไฟฟ้าผ่านแพลทินัมแถบบาง ซึ่งโลหะชนิดนี้ถูกเลือกเพราะมีจุดหลอมเหลวสูงอย่างยิ่ง แต่หลอดไส้นี้ไม่สว่างพอหรือทำงานได้นานพอที่จะนำไปใช้ได้จริง แต่ก็มีมาก่อนเบื้องหลังความพยายามการทดลองนับครั้งไม่ถ้วนอีก 75 ปีต่อมา
     โจเซฟ สวอนและโทมัส เอดิสันนั้นเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ทำหลอดไส้เป็นธุรกิจ โดยโทมัส เอดิสันเริ่มการวิจัยอย่างจริงจังในการพัฒนาหลอดไส้ที่ใช้การได้ใน ค.ศ. 1878 เอดิสันจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์สำหรับ "การปรับปรุงหลอดไฟฟ้า" เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1878 หลังจากทดลองหลายครั้งด้วยไส้หลอดที่ทำจากแพลทินัมและโลหะอื่น เอดิสันได้หันกลับไปใช้ไส้คาร์บอน การทดลองที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1879 และใช้งานได้ 13.5 ชั่วโมง เอดิสันยังคงพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว และจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1879 จดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาสำหรับหลอดไฟฟ้าที่ใช้ "ไส้คาร์บอนหรือแถบขดและเชื่อม ... กับสายส่งแพลตินา"[7] แม้สิทิบัตรนั้นจะอธิบายหลายหนทางในการสร้างไส้คาร์บอนรวมทั้ง "เส้นใยฝ้ายและลินิน เศษไม้ กระดาษที่ขดในหลายวิธี" แต่กระทั่งอีกหลายเดือนต่อมาหลังได้รับสิทธิบัตรนั้นแล้ว เอดิสันและทีมของเขาจึงค้นพบว่า ไส้ไม้ไผ่ที่เปลี่ยนเป็นคาร์บอนสามารถใช้งานได้นานเกิน 1,200 ชั่วโมง


เครื่องบันทึกเงินสด

เครื่องบันทึกเงินสด (Cash Register) เป็นอุปกรณ์เครื่องกลหรืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้บันทึกการขาย พร้อมติดตั้งลิ้นชักสำหรับเก็บเงินสด เป็นเครื่องคำนวณเลขชนิดแป้นเต็ม (Full Keyboard Adding Machine) มีลักษณะเป็นแป้นตัวเลขหลายแถว เรียงตามหมายเลขตามแนวดิ่งจากเลข 1 ถึง 9 จำนวนแถวขึ้นอยู่กับจำนวนหลักที่ต้องการ สามารถบวก ลบ คูณ หารได้ในเครื่อง และมีบัตรแสดงรายการ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ลูกค้าแทนใบเสร็จรับเงิน อีกส่วนหนึ่งม้วนอยู่ภายในเครื่องแสดงหลักฐานการรับเงิน
     พนักงานเก็บเงิน (Cashier) จะต้องออกใบเสร็จการขายให้ลูกค้าทุกครั้ง และเมื่อกดรายการแต่ละครั้ง เครื่องจะบันทึกจำนวนเงินทั้งในส่วนของลูกค้าและส่วนที่อยู่ในเครื่อง เมื่อเสร็จสิ้นการรับเงินในหนึ่งวัน ฝ่ายตรวจสอบจะรวมจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละวันจากเครื่อง และตรวจนับเงินที่ได้รับจริงซึ่งจะต้องตรงกัน ถ้าเงินที่รับจริงมีจำนวนที่ต่ำกว่าจำนวนเงินจากยอดรวมในเครื่อง พนักงานเก็บเงินจะต้องรับผิดชอบจำนวนเงินที่ขาดหายไป


วิดีโอโปรเจกต์เตอร์

วิดีโอโปรเจกต์เตอร์ (อังกฤษ: video projector) เป็นเครื่องฉายภาพจากสัญญานวิดีโอ ผ่านระบบเลนส์ไปยังฉากรับภาพ โดยใช้ไฟที่สว่างและจ้าในการฉายภาพ โดยเครื่องโปรเจกต์เตอร์รุ่นใหม่ สามารถแก้ไข ส่วนโค้งเว้า ความคมชัด ส่วนประกอบของภาพ และ อื่นๆ ด้วยการปรับโดยผู้ใช้เอง วิดีโอโปรเจกต์เตอร์ ถุกใช้อย่างกว้างขวางในการนำเสนองานในห้องประชุม ห้องเรียน หรือ แม้แต่ ใช้เป็น โฮมเทียเตอร์ โปรเจกต์เตอร์ จึงกลายเป็นที่นิยมและถูกใช้อย่างกว้างขวาง
เครื่องโปรเจกต์เตอร์ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ใช้ 3 ชนิด คือ
    1.โปรเจกต์เตอร์ชนิด CRT (CRT projecter) ใช้ หลอดลำแสงแคโธด จะมีสามหลอดสี คือ สีน้ำเงิน สีเขียว และสีแดง โดยหลอดสีทั้งสามสามารถเลื่อนเพื่อปรับองศาของภาพให้ถูกต้องได้ โปรเจกต์เตอร์ชนิดนี้เป็นชนิดที่เก่าแก่ที่สุด ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามาก แต่ดูไม่สวยงามเพราะเครื่องฉายมีขนาดใหญ่ แต่มีข้อดีคือสามารถฉายภาพให้เป็นภาพขนาดใหญ่ในราคาที่ถูกกว่า
    2.โปรเจกต์เตอร์ชนิดฉายแสงผ่านแผ่นแอลซีดี (LCD projector) เป็นโปรเจกต์เตอร์ที่มีระบบกลไกข้างในที่ไม่ซับซ้อน ทำให้เป็นโปรเจกต์เตอร์ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง เพราะราคาถูก โปรเจกต์เตอร์ชนิดนี้มีปัญหาด้านการมองเรียกว่า screen door effect หรือ pixilation effect ซึ่งเราจะมองเห็นภาพเป็น จุด เป็นเหลี่ยมขนาดเล็ก และหลอดไฟมีราคาสูง การฉายภาพบนโปรเจกต์เตอร์ชนิดแอลซีดี ใช้หลอดไฟชนิดเมทัลฮาไลด์ ส่งแสงไปยังปริซึมเพื่อกระจายแสงไปยังแผงซิลิคอนสามสี คือ แดง เขียว น้ำเงิน เพื่อส่งภาพเป็นสัญญาณวิดีโอ เมื่อแสงผ่านแผงซิลิคอนนี้แล้ว แต่ละพิกเซลจะเปิดออกหรือปิดลง เพื่อให้ภาพ ทั้งระดับสีและการไล่สีตามที่ต้องการ สาเหตุที่เราใช้ หลอดเมทัลฮาไลด์เพราะสามารถให้อุณหภูมิของสีและระดับสีที่ถูกต้องที่สุด ทั้งยังสามารถให้ความสว่างของแสงสูงในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ โปรเจกต์เตอร์แอลซีดีรุ่นปัจจุบัน จะมีความสว่างประมาณ 2000-4000 ลูเมน
    3.โปรเจกต์เตอร์ชนิด DLP (DLP projecter) ใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Digital Light Processor ของ Texas Instrument มีตัวกำเนิดแสงที่เล็กมากเรียกว่า Digital Micromirror Device (DMDs) โปรเจกต์เตอร์ชนิดนี้ทำงานโดยปรกติจะใช้ DMD 2 ตัวจะใช้จานหมุนติดกระจกเพื่อสร้างสี
    ปัญหาของโปรเจกต์เตอร์ชนิดนี้คือ Rainbow effect คือผู้ที่ดูภาพที่ฉายไปสีขาว เป็นสีรุ้ง แต่สามารถแก้ปัญหาได้โดยใช้ระบบใหม่ซึ่งใช้ DMD 3 ตัว ความเร็วในการหมุนของจานหมุนติดกระจกที่สูงขึ้น และสามารถให้สีหลักได้อย่างถูกต้อง

                                                                   
เตาไฟฟ้า

     เตาไฟฟ้า เป็นเครื่องใช้สำหรับหุงต้มหรือปรุงอาหาร แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบธรรมดาให้ความร้อนได้ระดับเดียว และแบบปรับความร้อนได้หลายระดับ
ส่วนประกอบของเตาไฟฟ้า
     1.เตาฟ้าแบบให้ความร้อนระดับเดียว มีส่วนประกอบดังนี้
1) กระเบื้องฉนวนทนความร้อน เป็นแผ่นกระเบื้องที่มีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูงมากๆ มีช่องลึกวนบนแผ่นกระเบื้องเพื่อได้วางลวดความร้อน
2) โครงเตาไฟฟ้า ทำด้วยแผ่นเล็ก พ่นสีที่ทนความร้อนได้ เป็นส่วนที่ยึดกระเบื้องฉนวน และหลักต่อสายไฟไฟฟ้าของเตา
3) ลวดความร้อน เป็นแบบเปลือยทำด้วยลวดนิโครมขดเป็นสปริง วางในช่องของกระเบื้องฉนวน
4) ปลอกกระเบื้อง มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ ใช้สำหรับร้อยลวดความร้อนช่วงระหว่างรูของกระเบื้องฉนวนกับหลักต่อไฟ
5) หลักต่อสายไฟ ติดตั้งอยู่ภายในเตาไฟฟ้า ลักษณะเป็นแผ่นเหล็ก 2 แผ่น แต่ละแผ่นจะมีสกรูยึดสายไฟทั้ง 2 ด้าน มีกระเบื้องปิดด้านหลัง
6) สายไฟ ปลั๊ก และปลอกสาย โดยปกติสายไฟที่ใช้กับเตาไฟฟ้าจะมีฉนวนหุ้มลวดตัวนำภายใน 2 ชั้น ฉนวนที่หุ้มสายไฟจะต้องทนต่อความร้อนได้ดี เหนียวแน่นและไม่ฉีกขาดง่าย
    2. เตาไฟฟ้าแบบให้ความร้อนหลายระดับ (มีส่วนประกอบคล้ายกับแบบให้ความร้อนระดับเดียว ต่างกันที่สามารถปรับระดับความร้อนได้หลายระดับตามความต้องการของผู้ใช้)  มีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1) ลวดความร้อน เตาไฟฟ้าแบบนี้ต้องใช้ลวด 2 เส้นเพื่อให้สวิตซ์ปรับระดับความร้อน สามารถตัดต่อกระแสไฟฟ้าได้ ลวดความร้อนจะมีขนาดกำลังไฟไม่เท่ากัน เช่น 300 วัตต์ , 600 วัตต์ , 1000 วัตต์ เป็นต้น
2) สวิตซ์ปรับระดับความร้อน มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ คอนแทค 2 ชุด ลูกเบี้ยวบังคับคอนแทค และแกนปรับของสวิตซ์ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ตัดต่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านลวดความร้อน เพื่อให้ผู้ใช้ปรับระดับความร้อนของเตาได้ตามต้องการ
3) กระเบื้องฉนวนทนความร้อน เป็นกระเบื้องทนความร้อนสูงมีร่อง 2 ร่องคู่เพื่อให้วางลวดความร้อนลงไปได้ 2 เส้น
     วิธีการใช้
1.เสียบปลั๊กไฟให้เรียบร้อย สังเกตว่ามีไฟกระพริบขึ้นที่ปุ่ม ON/OFF แสดงว่าเครื่องพร้อมทางาน
2.กดปุ่ม ON/OFF อีกครั้งเพื่อเปิดการทางานของเครื่องไฟจะขึ้นที่ปุ่มโหมดHOTPOTและPOWERบริเวณหน้าจอLCD จากนั้นจะมีสัญญาณเตือนดังขึ้นเพื่อให้วางภาชนะหากไม่มีการวางภาชนะภายในเวลา30วินาทีเครื่องจะตัดการทางานโดยอัตโนมัติ 
3.เลือกโหมดการใช้งานตามความต้องการ ปุ่มMILKเป็นปุ่มสาหรับการอุ่นนมหรืออาหารจนถึง60องศาเซลเซียสใช้กาลังไฟน้อย ปุ่มSOUPเป็นปุ่มสาหรับการต้มซุปช่วงแรกจะใช้ไฟกาลังปานกลางต้มซุปให้เดือดจากนั้นเครื่องจะใช้ไฟฟ้าอย่างช้าๆเพื่อคงอุณหภูมิ ปุ่ม WATER เป็นปุ่มใช้สาหรับการต้มน้าช่วงแรกจะใช้กาลังไฟสูงสุดเพื่อเร่งความร้อนจากนั้นต้มต่อช่วงเวลาหนึ่งสาหรับปุ่มMILKSOUPWATERทั้ง3ปุ่มเมื่อกดปุ่มเหล่านี้หน้าจอLCDจะขึ้นคาว่าPCหมายถึงอุณหภูมิจะถูกตั้งโปรแกรมโดยอัตโนมัติจากตัวเครื่องซึ่งไม่สามรถที่จะปรับระดับความร้อนให้เพิ่มหรือลดลงได้สามารถตั้งเวลาได้ตั้งแต่1นาที-240นาทีหรือ4ชั่วโมงปุ่มHOTPOTเป็นปุ่มใช้สาหรับการทาอาหารประเภทสุกี้หรือหม้อไฟเมื่อกดปุ่มนี้แผงไฟที่หน้าจอจะอยู่ตรงPOWERตัวเลขหน้าจอ18หมายถึงระดับของกำลังไฟฟ้า ตั้งแต่ 300-2000wสามารถปรับระดับได้ตั้งแต่ 1-8 ปุ่ม FRY เป็นปุ่มใช้สาหรับการทอดเมื่อกดปุ่มนี้แผงไฟที่หน้าจอจะอยู่ตรง TEMPO ตัวเลขที่แสดงให้เห็นบนหน้าจอ หมายถึง อุณหภูมิที่ใช้ในการทาอาหารเริ่มต้น ตั้งแต่ 80 C 120 C 160 C 200 C 220 C 240 C


                                                         กาต้มน้ำไฟฟ้า
 
     
กาต้มน้ำไฟฟ้า เป็นเครื่องใช้ในการทำน้ำร้อนเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ภายในบ้านตามความต้องการ  เช่น ชงเครื่องดื่ม ใช้ผสมน้ำอาบ ทำความสะอาดภาชนะ เป็นต้น กาต้มน้ำไฟฟ้าที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี 3 แบบ คือ  แบบธรรมดา แบบอัตโนมัติ และแบบปล่อยน้ำด้วยแรงกดอากาศ
ส่วนประกอบของกาต้มน้ำไฟฟ้า
     1.กาต้มน้ำไฟฟ้าแบบธรรมดา  มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว คือ ลวดความร้อน
หรือฮีทเตอร์ เป็นลวดนิโครมห่อด้วยผงแมกนีเซียมออกไซด์ แล้วหุ้มด้วยท่อโลหะ ลวดความร้อนนี้จะขดโค้งอยู่ที่ก้นกา มีขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว ต่อออกมาข้างนอก เพื่อต่อกับปลั๊กทำให้น้ำร้อน เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านลวดความร้อนจะทำให้ลวดความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น เรื่อยๆ และความร้อนจะถูกถ่ายเทไปให้กับน้ำจนอุณหภูมิของน้ำสูงสุดถึงจุด เดือด
ถ้าน้ำเดือดแล้วยังไม่ดึงปลั๊กออกน้ำจะเดือดต่อไปเรื่อยๆจนระเหยเป็นไอหมด
ข้อควรระวัง การใช้กาต้มน้ำชนิดนี้ต้องระวังไม่ให้ระดับ น้ำต่ำกว่าลวดความร้อน อาจเกิดการเสียหายได้เพราะลวดความร้อนถูกออกแบบใช้กับน้ำเท่านั้น

     2.  กาต้มน้ำแบบอัตโนมัติ  มีส่วนประกอบสำคัญคือ แผ่นความร้อน และอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิแบบ ไบ-เมทอลิค ทำหน้าที่ตัดต่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านแผ่นความร้อน ให้มีอุณหภูมิตามต้องการอุปกรณ์ให้ความร้อนหรือฮีตเตอร์ของกาต้มน้ำร้อนชนิด นี้มีทั้งปิดและกึ่งปิดไม่ว่าจะเป็นฮีทเตอร์ แบบใดก็ตามที่ใช้กับกาต้มน้ำนี้จะถูกออกแบบสำหรับต้องทำงานกับน้ำโดยต้องมี น้ำอยู่ในกาตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้น้ำแห้งหรือต่ำกว่าระดับที่กำหนด ก็อาจเป็นผลทำให้ฮีทเตอร์เสียหายได้ อุปกรณ์การควบคุมอุณหภูมิของกาน้ำร้อน ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ ไบเมทอลลิค (Bi- metallic) ซึ่งทำมาจากกโลหะสองชนิดที่มีอัตราการขยายตัวไม่เท่ากันมายึดติดแนบแน่นเข้าด้วยกัน เมื่อแผ่นไบเมทอลลิคได้รับความร้อนจะเกิดการงอตัวมาควบคุมคอนแทค(Contact)ในการตัดต่อ กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านฮีทเตอร์หลอดไฟนี้ทำหน้าที่แสดงให้ทราบถึงการทำงานของ กาต้มน้ำร้อนว่าทำงาน หรือตัดการทำงานหรือเป็นการแสดงถึงน้ำในกาที่ต้มมีอุณหภูมิถึงจุดที่ต้องการ แล้ว
      3.  กาต้มน้ำชนิดอัตโนมัติแบบปล่อยน้ำด้วยแรงกดอากาศ (Air Pressure Automatic Electric Pots)   กาต้มน้ำแบบนี้มีรูปร่างเหมือนกระติกน้ำ แต่ลักษณะการทำงานเหมือนกาต้มน้ำ สามารถเก็บความร้อนของน้ำให้อุ่น หรือร้อนนานเท่าที่ต้องการได้ กาต้มน้ำแบบนี้มีส่วนประกอบสำคัญ  ได้แก่   




1)  ฝาครอบ  เป็นฝาครอบด้านบนสุดของกามีปุ่มล็อคฝาให้อยู่กับที่ ฝาครอบนี้ทำหน้าที่เป็นตัวอัดอากาศเข้าไปภายในกา เมื่อผู้ใช้ใช้มือกดลงบนฝา
2)  ฝาปิดภายใน เป็นแผ่นอลูมิเนียมกลมที่ขอบมียางหุ้มไว้โดยรอบเพื่อกันไม่ให้ อากาศรั่วออก
3)  โครงกา มี 2 ชั้น คือ โครงกาชั้นนอกและโครงกาชั้นใน ชั้นนอกเป็นฉนวนกันความร้อนมีเครื่องหมายบอกระดับน้ำ ช่องบอกไฟแสดงการอุ่น (warm) กาต้ม น้ำ (Boil)  โครงกาชั้นในเป็นถังอะลูมิเนียม หรือ สเตนเลส สำหรับบรรจุน้ำที่ด้านหลังส่วนล่างของโครงกามีช่องเสียบปลั๊กแม่เหล็กอยู่ ด้วย
4)  ส่ายไฟ  สายไฟที่ใช้กับกาต้มน้ำแบบนี้ปลายสายด้านหนึ่งจะเป็นปลั๊กมีขาเสียบ เพื่อเสียบเข้ากับปลั๊กจ่ายไฟภายในบ้าน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งเป็นปลั๊กแม่เหล็กสำหรับเสียบติดกับขั้วต่อของกา เพื่อนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่กาต้มน้ำ
5) ลวดความร้อน อยู่ด้านก้นกา มี 2 ชุด ชุดที่หนึ่งมีขนาดกำลังไฟประมาณ 700    วัตต์ ช่วยทำให้น้ำร้อน อีกชุดหนึ่งมีกำลังไฟประมาณ 50 วัตต์ ทำหน้าที่รักษา อุณหภูมิของน้ำให้คงที่
6) หลอดไฟ ภายในโครงกาส่วนล่างจะมีหลอดไฟ 2 หลอด คือหลอดไฟแสดงการอุ่น และหลอดไฟแสดงการต้มน้ำ หลอดไฟทั้งสองทำหน้าที่บอกสภาวะการทำงานของกาต้มน้ำ ในขณะที่เครื่องกำลังทำน้ำให้ร้อน วิธีการใช้กาต้มน้ำไฟฟ้าเมื่อต้องการต้มน้ำ ให้เทน้ำใส่กา ปิดฝา เสียบปลั๊กที่ขั้วต่อไฟของกาต้มน้ำก่อน แล้วจึงเสียบปลั๊กอีกด้านหนึ่งเข้ากับปลั๊กจ่ายไฟภายในบ้าน เมื่อน้ำเดือด หรือร้อนถึงระดับที่ต้องการ จึงถอดปลั๊กทั้งสองด้านออก